วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ดินและปุ๋ย





ธาตุอาหารพืชในดิน

ธาตุอาหารพืชในดิน ๑๓ ธาตุ นั้นมีดังนี้คือ
กลุ่มที่ ๑

ไนโตเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สามธาตุนี้ พืชมักต้องการเป็นปริมาณมาก แต่มักจะมีอยู่ในดินไม่ค่อยพอกับความต้องการของพืชที่ปลูก ต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ เฉพาะธาตุอาหารในกลุ่มนี้เท่านั้น ที่จะขอกล่าวไว้พอสมควรในที่นี้

กลุ่มที่ ๒

แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน สามธาตุนี้ พืชต้องการมากเหมือนกัน บางธาตุก็ไม่แพ้กลุ่มที่หนึ่ง แต่ธาตุทั้งสามนี้โดยปกติมักอยู่ในดินค่อนข้างมากเพียงพอกับความต้องการของพืชทั่วๆ ไป เมื่อเราใส่ปุ๋ยสำหรับธาตุในกลุ่มที่ ๑ ธาตุในกลุ่มที่ ๒ นี้ก็มักจะติดมาด้วยไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาเกิดการขาดหรือมีไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช

กลุ่มที่ ๓

เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน ธาตุทั้งเจ็ดนี้ พืชโดยทั่วไปมีความต้องการเป็นปริมาณน้อยมาก เราจึงเรียกธาตุในกลุ่มที่ ๓ นี้ว่า จุลธาตุอาหาร ธาตุพวกนี้บางธาตุ ถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก เช่น เหล็กและแมงกานีส ก็จะกลับกลายเป็นพิษแก่พืชได้ อย่างไรก็ตามธาตุพวกนี้รวมทั้งในกลุ่มที่ ๒ ต่างก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่าเทียมกันหมด และมีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่ ๑ ด้วยเช่นกัน ถ้ามีธาตุใดขาดไป หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช พืชก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต และจะตายไปในที่สุด ธาตุอาหารในกลุ่มที่ ๓ นี้ก็เช่นเดียวกัน จะไม่ขอกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่ยืดยาวมาก ถ้าจะกล่าวกันให้ครบถ้วน


รูป แหล่งที่มาของธาตุไนโตรเจนในดินจะมาจากการผุพังสลายตัวของอินทรียวัตถุในดิน

หน้าที่ความสำคัญ และธรรมชาติของธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในดินที่มีต่อพืชจะขอกล่าวแต่โดยสังเขปดังต่อไปนี้ 

ธาตุไนโตรเจน

ธาตุไนโตรเจนปกติจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก แต่ไนโตรเจนในอากาศในรูปของก๊าซนั้น พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ (ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ที่มีระบบรากพิเศษ สามารถแปรรูปก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ เอามาใช้ประโยชน์ได้) ธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่วๆ ไปดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH4+) และไนเทรตไอออน (No3-) ธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน โดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้ นอกจากนั้นก็ได้มาจากการที่เราใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดินด้วย

พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก เป็นธาตุอาหารที่สำคัญมาก ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์ เมื่อพืชได้รับไนโตรเจนมากๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เช่น จะทำให้พืชอวบน้ำมาก ต้นอ่อน ล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนทำลายได้ง่าย คุณภาพ ผลิตผลของพืชบางชนิดก็จะเสียไปได้ เช่น ทำให้ ต้นมันไม่ลงหัว มีแป้งน้อย อ้อยจืด ส้มเปรี้ยว และมีกากมาก แต่บางพืชก็อาจทำให้คุณภาพดี ขึ้น โดยเฉพาะพวกผักรับประทานใบ ถ้าได้รับไนโตรเจนมากจ ะอ่อน อวบน้ำ และกรอบ ทำให้มีเส้นใยน้อย และมีน้ำหนักดี แต่ผักมักจะเน่าง่าย และแมลงชอบรบกวน

พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่างๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็ว ทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า และไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ดินโดยทั่วๆ ไปมักจะมีไนโตรเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นเวลาปลูกพืชจึงควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมี เพิ่มเติมให้กับพืชด้วย


รูปแสดงการสูญเสียฟอสฟอรัสโดยการตรึงฟอสฟอรัสในดิน

ธาตุฟอสฟอรัส

ธาตุฟอสฟอรัสในดินมีกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดิน การสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน ก็จะสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้ เช่นเดียวกับไนโตรเจน ดังนั้น การใช้ปุ๋ยคอก นอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้ว ก็ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำ ในดิน สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่า ดินถึงแม้จะมีฟอสฟอรัสมากก็จริง แต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัส เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ ละลายน้ำยากนั่นเอง นอกจากนั้นแร่ธาตุต่างๆ ในดินชอบที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลฟอสเฟตที่ ละลายน้ำได้ ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้เมื่อ ใส่ลงไปในดินประมาณ ๘๐-๙๐% จะทำปฏิกิริยา กับแร่ธาตุในดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลาย น้ำยากไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ดังนั้นการ ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตจึงไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพราะยิ่งจะทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆ ในดินได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ควรจะใส่แบบเป็นจุดหรือ โรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินในบริเวณรากของพืช ปุ๋ยฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่ เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วย ป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุใน ดินและสูญเสียความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจน เกินไป

พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่างๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอ จะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น

ธาตุโพแทสเซียม

ธาตุโพแทสเซียมในดินที่พืชนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ มีกำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่มากมายหลายชนิดในดิน โพแทสเซียมที่อยู่ในรูปอนุมูลบวก หรือโพแทสเซียมไอออน (K+) เท่านั้น ที่พืชจะดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าธาตุโพแทสเซียมยังคงอยู่ในรูปของสารประกอบ ยังไม่แตกตัวออกมาเป็นอนุมูลบวก (K+) พืชก็ยัง ดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์อะไรไม่ได้ อนุมูลโพแทสเซียมในดินอาจจะอยู่ในน้ำ ในดิน หรือดูดยึดอยู่ที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียวก็ได้ ส่วนใหญ่จะดูดยึดที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียว ดังนั้นดินที่มีเนื้อดินละเอียด เช่น ดินเหนียว จึงมีปริมาณของธาตุนี้สูงกว่าดินพวกเนื้อหยาบ เช่น ดินทราย และดินร่วนปนทราย ถึงแม้โพแทสเซียมไอออน จะดูดยึดอยู่ที่อนุภาคดินเหนียว รากพืชก็สามารถดึงดูดธาตุนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายๆ พอกันกับ เมื่อมันละลายอยู่ในน้ำ ในดิน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมอาจจะใส่แบบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกพืชได้ หรือจะใส่โดยโรยบนผิวดิน แล้วพรวนกลบก็ได้ถ้าปลูกพืชไว้ก่อนแล้ว ธาตุ โพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการ เคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยง ส่วนที่กำลังเติบโต และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่ หัวหรือที่ลำต้น ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และ มัน จึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลือง และเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ พืชที่ปลูกในดินทรายที่เป็นกรดรุนแรงมักจะมีปัญหาขาดโพแทสเซียม แต่ถ้าปลูกในดินเหนียวมักจะมีโพแทสเซียมพอเพียง และไม่ค่อยมีปัญหาที่จะต้องใส่ปุ๋ยนี้เท่าใดนัก

เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ดินมักจะมีไม่พอ ประกอบกับพืชดึงดูดจากดินขึ้นมาใช้แต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก จึงทำให้ดินสูญเสียธาตุเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า เสียปุ๋ยในดินไปมาก ซึ่งเป็นผลทำให้ดินที่เราเรียกว่า "ดินจืด" เพื่อเป็นการปรับปรุงระดับธาตุอาหารพืช N P และ K ที่สูญเสียไป เราจึงต้องใช้ปุ๋ย เพื่อความเข้าใจเรื่องของปุ๋ย จึงใคร่ขอกล่าวถึงชนิดของปุ๋ย และหลักการใช้ปุ๋ยแต่โดยย่อๆ ดังนี้
มูลสัตว์ต่างๆ เช่น สุกร สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยคอกที่ดีได้ ซึ่งควรเก็บสะสมไว้ไม่ควรปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์


ปุ๋ย หมายถึง สารหรือสิ่งที่เราใส่ลงไปในดิน เพื่อวัตถุประสงค์ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะพวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่พืชยังขาดอยู่ให้พืชได้รับอย่างเพียงพอ พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามดี และให้ผลิตผลสูงขึ้น

โดยทั่วไปปุ๋ยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ปุ๋ยอินทรีย์พวกหนึ่ง และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือปุ๋ยเคมีอีกพวกหนึ่ง ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงปุ๋ยอินทรีย์ก่อน

ปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยพวกนี้ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด ซึ่งเป็นพวกอินทรียสาร

ปุ๋ยคอก ที่สำคัญก็ได้แก่ ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ ฯลฯ เป็นปุ๋ยคอกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในบรรดาสวนผัก และสวนผลไม้ ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปแล้ว ถ้าคิดราคาต่อหน่วยธาตุอาหารพืช จะมีราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วยซุย ทำให้การเตรียมดินง่าย การตั้งตัวของต้นกล้าเร็ว ทำให้มีโอกาสรอดได้มาก นาข้าวที่เป็นดินทราย เช่น ดินภาคอีสาน การใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ เท่าที่จะหาได้ใน บริเวณใกล้เคียง จะช่วยให้การดำนาง่าย ข้าวตั้ง ตัวได้ดี และเจริญเติบโตงอกงามอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากดินทรายพวกนี้มีอินทรียวัตถุต่ำมาก การใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ลงไป จะทำให้ดินอุ้มน้ำและปุ๋ยได้ดีขึ้น การปักดำกล้าทำได้ง่ายขึ้น เพราะหลังทำเทือกแล้ว ดินจะไม่อัดกันแน่น

ปุ๋ยคอกมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมค่อนข้างต่ำ โดย หยาบๆ แล้ว ก็จะมีไนโตรเจนประมาณ 0.5% N ฟอสฟอรัส 0.25% P2O5 และโพแทสเซียม 0.5% K2O

ปุ๋ยขี้ไก่ และขี้เป็ด จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้หมู และขี้หมูจะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าขี้วัว และขี้ควาย ปุ๋ยคอกใหม่ๆ จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยคอกที่เก่าและเก็บไว้นาน ทั้งนี้เนื่องจากส่วนของปุ๋ยที่ละลายได้ง่ายจะถูกชะล้างออกไปหมด บางส่วนก็กลายเป็นก๊าซ สูญหายไป ดังนั้นการเก็บรักษาปุ๋ยคอกอย่างระมัดระวังก่อนนำไปใช้ จะช่วยรักษาคุณค่าของปุ๋ยคอก ไม่ให้เสื่อมคุณค่าอย่างรวดเร็ว

การเก็บรักษาปุ๋ยคอกอาจทำได้ เช่น นำมากองรวมกันเป็นรูปฝาชี แล้วอัดให้แน่น ถ้าอยู่ภายใต้หลังคาก็ยิ่งดี ถ้าอยู่กลางแจ้ง ควรหาจากหรือทางมะพร้าวคลุมไว้ด้วยก็จะดี ปุ๋ยคอกที่ได้มาใหม่ๆ และยังสดอยู่ ถ้าจะใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตชนิดธรรมดา (20% P2O5) ลงไปด้วยสักเล็กน้อย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียไนโตรเจน โดยการระเหิดกลายเป็นก๊าซได้เป็นอย่างดี ถ้าเลี้ยงสัตว์อยู่ในคอกควรใช้แกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางข้าว รองพื้นคอก ให้ดูดซับปุ๋ยไว้ เมื่อฟางข้าวอิ่มตัวด้วยปุ๋ย ก็รองเพิ่มเป็นชั้นๆ เมื่อสะสมไว้มากพอ ก็ลอกเอาไปกองเก็บไว้ หรือนำไปใส่ในไร่นาโดย ตรงเลยก็ได้ อัตราปุ๋ยคอกที่ใช้นั้นไม่เคร่งครัด เหมือนกับปุ๋ยเคมี ปกติแนะนำให้ใส่อัตรา ๑-๔ ตันต่อไร่ โดยใส่ค่อนข้างมากในดินเหนียวจัด หรือดินทรายจัด หลังจากใส่ปุ๋ยคอกแล้วถ้ามีการ ไถหรือพรวนดินกลบลงไปในดิน ก็จะช่วยให้ปุ๋ย เป็นประโยชน์แก่พืชได้เร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพวกนี้ก็ได้แก่ปุ๋ยที่เราได้จากการหมักเศษพืช เช่น หญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าว ฯลฯ ให้เน่าเปื่อยเสียก่อน จึงนำไปใส่ในดินเป็นปุ๋ย ปุ๋ยเทศบาลที่บรรจุถุงขายในชื่อของปุ๋ยอินทรีย์เบอร์ต่างๆ นั้น ก็คือ ปุ๋ยหมัก ได้จากการนำขยะจากในเมือง พวกเศษพืช เศษอาหารเข้าโรงหมักเป็นขั้นเป็นตอน จนกลายเป็นปุ๋ย ปุ๋ยหมักสามารถทำเองได้ โดยการกรองสุมเศษพืชสูงขึ้นจากพื้นดิน ๓๐-๔๐ ซม. แล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ ๑-๑.๕ กิโลกรัม ต่อเศษพืชหนัก ๑,๐๐๐ กิโลกรัม เสร็จแล้วก็กองเศษพืชซ้อนทับลงไปอีก แล้วโรยปุ๋ยคอกผสมปุ๋ยเคมี ทำเช่นนี้เรื่อยไปเป็นชั้นๆ จนสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ควรมีการรดน้ำ แต่ละชั้นเพื่อให้มีความชุ่มชื้น และเป็นการทำให้มี การเน่าเปื่อยได้เร็วขึ้น กองปุ๋ยหมักนี้ทิ้งไว้ ๓-๔ สัปดาห์ ก็ทำการกลับกองปุ๋ยครั้งหนึ่ง ถ้ากองปุ๋ย แห้งเกินไปก็รดน้ำ ทำเช่นนี้ ๓-๔ ครั้ง เศษพืชก็ จะเน่าเปื่อยเป็นอย่างดีและมีสภาพเป็นปุ๋ยหมัก นำ ไปใช้ใส่ดินเป็นปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกได้ เศษหญ้า และใบไม้ต่างๆ ถ้าเก็บรวบรวมกองสุมไว้แล้วทำ เป็นปุ๋ยหมัก จะดีกว่าเผาทิ้งไป ปุ๋ยหมักจะช่วย ปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ดีขึ้นและ ปลูกพืชเจริญงอกงามดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพืช ผักสวนครัว และไม้ดอกไม้ประดับ

ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน ซึ่งได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ แล้วทำการไถกลบ เมื่อพืชเจริญเติบโตมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก พืชตระกูลถั่วที่ควรใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ควรมีอายุสั้น มีระบบรากลึก ทนแล้ง ทนโรคและแมลงได้ดี เป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีเมล็ดมาก ตัวอย่างพืชเหล่านี้ก็ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วลาย ปอเทือง ถั่วขอ ถั่วแปบ และโสน เป็นต้น

ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยพวกนี้เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากการผลิตหรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรม จากแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด ปุ๋ยเคมีมีอยู่ ๒ ประเภท คือ แม่ปุ๋ย หรือปุ๋ยเดี่ยวพวกหนึ่ง และปุ๋ยผสมอีกพวกหนึ่ง

ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยพวกแอมโมเนียมซัลเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมี มีธาตุอาหารปุ๋ยคือ N หรือ P หรือ K เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยหนึ่งหรือสองธาตุ แล้วแต่ชนิดของสารประกอบที่เป็นแม่ปุ๋ยนั้นๆ มีปริมาณของธาตุอาหารปุ๋ยที่คงที่ เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต มีไนโตรเจน 20% N ส่วนโพแทสเซียมไนเทรต มีไนโตรเจน 13% N และโพแทสเซียม 46% K2O อยู่ร่วมกันสองธาตุ

ปุ๋ยผสม ได้แก่ ปุ๋ยที่มีการนำเอาแม่ปุ๋ยหลายๆ ชนิดมาผสมรวมกัน เพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้ มีปริมาณ และสัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปุ๋ย ที่มีสูตรหรือเกรดปุ๋ย เหมาะที่จะใช้กับพืชและดินที่แตกต่างกัน ปุ๋ยผสมนี้จะมีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป เพราะนิยมใช้กันมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยผสมได้พัฒนาไปไกลมาก สามารถผลิตปุ๋ยผสมให้เข้าเป็น เนื้อเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ มีการปั้นเป็นเม็ดขนาด สม่ำเสมอสะดวกในการใส่ลงไปในไร่นา ปุ๋ยพวก นี้เก็บไว้นานๆ จะไม่จับกันเป็นก้อนแข็ง สะดวก แก่การใช้เป็นอย่างยิ่ง

ปุ๋ยผสมประเภทนี้รู้จักและเรียกกันทั่วๆ ไปว่า ปุ๋ยคอมปาวด์ ส่วนการนำแม่ปุ๋ยมาผสมกันเฉยๆ เพียงให้ได้สูตรตามที่ต้องการ หรืออาจมีการบดให้ละเอียดจนเข้ากันดียังคงเรียกว่า ปุ๋ยผสมอยู่ตามเดิม ปัจจุบันมีการนำเอาแม่ปุ๋ย ที่มีการปั้นเม็ด หรือมีเม็ดขนาดใกล้เคียงกันมาผสมกัน ให้ได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการ แล้วนำไปใช้โดยตรง เรียกปุ๋ยชนิดนี้ว่า ปุ๋ย ผสมคลุกเคล้า (bulk blending)
หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี


ปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน จะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมด จะทำปฏิกิริยากับดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก พืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดิน เพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญ เสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ย ชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธี แตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากัน อาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง

การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สูตร เรโช และรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้ แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง

สูตรปุ๋ย หรือบางทีเรียกว่า "เกรดปุ๋ย" หมายถึง ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหาร ที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมี โดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ย เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามี อยู่หนัก ๒๐ กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ ๑๐ กิโลกรัม เลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ มีอยู่ ๕ กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด ๓๕ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นที่ ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจน ตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้าย คือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กัน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้

เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหาร ในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดิน นาในภาคกลาง ซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น

สำหรับ "เรโช" ของปุ๋ยนั้น เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกันระหว่างธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในสูตรปุ๋ย เรโชปุ๋ยจะบอกเป็นตัวเลขลงตัวน้อยๆ ระหว่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2 O5 ) และโพแทสเซียม (K2 O) ของสูตรปุ๋ยนั้นๆ เช่น

16-16-8 เท่ากับเรโช 2:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 8
20-10-5 เท่ากับเรโช 4:2:1 ได้จากการหาร ตลอดด้วย 5

นั่นคือ ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีเรโชเดียวกัน จะแตกต่างกัน ที่ปริมาณธาตุอาหารรวม ที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่น สูตร 10-10-10 มีธาตุอาหารรวม N P K หนัก ๓๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ส่วนปุ๋ย 20-20-20 มีธาตุอาหารรวมหนัก ๖๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยสูตรแรกเท่าตัว ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกัน จะบอกให้ทราบว่า เป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ ดัง นั้นถ้าใช้ปุ๋ย 10-10-10 อยู่โดยใช้อัตรา ๕๐ กก./ ไร่ สามารถเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย 20-20-20 แทนได้ แต่เนื่องจากปุ๋ยนี้มีธาตุอาหารรวมมากกว่า ก็จะ ต้องลดอัตราที่ใช้ให้น้อยลง คือใช้เพียง ๒๕ กก./ ไร่ เท่านั้น ก็จะได้ธาตุอาหารที่เท่ากัน

ปุ๋ยเคมีจะมีสัดส่วนระหว่าง N:P:K แตกต่างกัน แล้วแต่จะนำไปใช้กับชนิดของพืช และกับที่ดินที่มีระดับธาตุอาหาร N P และ K แตกต่างกันอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ก็จะต้องรู้จักดิน และรู้จักพืชที่ปลูกเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากดินแต่ละแห่ง และแต่ละชนิด จะมีระดับธาตุอาหารปุ๋ยในดินแตกต่างกัน ส่วนพืชที่ปลูกต่างชนิดกัน หรือแม้แต่อายุพืชแตกต่างกัน ก็มีความต้องการธาตุอาหาร N P K ในปริมาณ และสัดส่วน เพื่อการเจริญเติบโต และสร้างผลิตผลแตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

ระดับธาตุอาหารพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีอยู่มากน้อยเท่าใดนั้น สามารถตรวจสอบได้ด้วยการส่งตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของไร่นานั้นๆ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี

ปุ๋ยที่มีเรโชของ N สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ P และ K มักจะใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้น เร่งใบ เหมาะสำหรับพืชผักกินใบ หรือเร่งการเจริญเติบโตทางด้านต้น และเร่งให้พืชโตเร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในกรณีที่ดินขาด N อย่างรุนแรง ส่วน P และ K มีอยู่ในดินระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง การใช้ปุ๋ยเคมีที่เรโชของ N สูงๆ ก็จะเป็นการช่วยปรับระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร N P K ในดินให้เหมาะสมแก่พืชที่ปลูกได้ดีขึ้น หรือในกรณีของดินนาทางภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย ระดับความเป็นประโยชน์ของ K ในดินค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับดินนาทางภาคกลาง ดังนั้น ปุ๋ยนาที่แนะนำให้ใช้ในทางภาคอีสาน และภาคใต้จึงควรมี K รวมอยู่ด้วย แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า N และ P เช่น เรโช 2:2:1 เช่นสูตร 16-16- 8 หรือ 2:2:1 เช่นสูตร 18-12-6 แทนที่จะเป็น 16- 20-0 หรือ 20-20-0 เช่น ปุ๋ยนาในภาคกลาง ดังนี้เป็นต้น

(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม

ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวน หรืออัตราปุ๋ย ที่ใช้ต่อไร่ หรือต่อต้น ที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับ เพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด ถ้าน้อยกว่านั้น ก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโต และให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควร หรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโต และให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น แต่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ย และราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด

การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ย หรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้น และความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแล และการบำรุงรักษาของกสิกร ตลอดจนราคาของปุ๋ย และของพืชที่ปลูกประกอบด้วย

(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ


พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร มักจะแคระแกร็น และให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ย จะช่วยยกระดับธาตุอาหาร ที่ขาดแคลน ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกัน อาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ ปุ๋ยแก่พืชนั้น ตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความ ต้องการธาตุอาหารนั้นๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วง จังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืช แต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พืชที่มีอายุสั้น เช่น พืชไร่และข้าว จะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหาร ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย ๓ ช่วงด้วยกัน คือ

(๑) ช่วงแรกที่พืชเริ่มงอก และการเติบโตในระยะ ๓๐-๔๕ วันแรก พืชมักจะต้องการธาตุอาหารน้อยและช้า เพราะระยะนี้ระบบรากยังน้อย และต้นยังเล็กอยู่

(๒) ช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก สำหรับข้าวจะเป็นระยะที่กำลังแตกกอ และระยะที่กำลังสร้างตาดอก ถ้าเป็นข้าวโพด จะเป็นระยะที่มีอายุ ๔๕ - ๖๐ วัน ถ้าเป็นข้าวก็ระยะประมาณ ๓๐ วัน ก่อนออกดอก และ

(๓) ช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่แล้ว และเป็นระยะสร้างเมล็ดหรือสร้างผล ความต้องการธาตุอาหารในระยะนี้ จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฝักหรือเมล็ดแก่

ระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจากดินมากที่สุด และดึงดูดธาตุอาหารจากดินในอัตราที่รวดเร็วมากที่สุดก็คือ ช่วงที่สอง เพราะเป็นระยะที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการสะสมธาตุอาหารไว้ในต้นและใบ ให้เพียงพอสำหรับการสร้างเมล็ดและผล ที่จะมีขึ้นในช่วงที่สาม ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชระยะที่สำคัญก็คือ ระยะที่สองนี้ ซึ่งพืชควรจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ให้เพียงพอที่สุด

ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืช จึงต้องแบ่งใส่ จังหวะการใส่ควรให้พอเหมาะกับระยะที่พืชต้องการ จะยังผลให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่สูง ความเหมาะสมของจังหวะเวลาการให้ปุ๋ยกับพืช ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงที่ควรจะแบ่งใส่ปุ๋ย เพื่อให้มีผลดีแก่พืชมากที่สุดแตกต่างกันออกไป แต่อาจจะถือเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้คือ

๓.๑ การแบ่งใส่ปุ๋ยมักจะให้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยจำนวนเดียวกันนั้นเพียงครั้งเดียวตอนปลูก ยกเว้นเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำมากๆ

๓.๒ การใส่ครั้งแรกคือ ใส่ตอนปลูก ควรใส่แต่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทสนั้น จะใส่ทั้งหมดในตอนปลูกก็ได้

๓.๓ การใส่ครั้งที่สอง ควรใส่ระยะที่พืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างระยะแตกกอสูงสุดถึงใกล้ออกดอก ส่วนใหญ่การใส่ครั้งที่สองจะเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้สูงมากๆ การแบ่งใส่ควรเป็นสามครั้งคือ ตอนปลูก ตอนเริ่มการเติบโตอย่างรวดเร็ว และตอนระยะใกล้ออกดอก และจะไม่ช้าไปกว่าระยะหลังจากพืชออกดอกแล้ว หรือระยะที่พืชเริ่มแก่

(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่ เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดิน ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที

ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ย จะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมาก เพราะละลายน้ำได้ง่าย ไนโตรเจนในรูปไนเทรต จะถูกน้ำพัดพาออกไปจากชั้นของดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารากพืชดึงดูดเอาไว้ไม่ทัน ก็จะสูญเสียไปหมด และไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ปกติแล้วปุ๋ยไนโตรเจนในดินจะสูญเสียไป โดยการชะล้างประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่ลงไป ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ถึงแม้ จะดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ และถูก ชะล้างได้ยากก็จริง เมื่อดินมีการถ่ายเทอากาศดี จะถูกแปรรูปโดยจุลินทรีย์ในดินจะทำปฏิกิริยา เพิ่มออกซิเจน (oxidized) ให้กลายเป็นไนเทรต (NO3- N) ได้ง่ายและเร็วมาก

ฟอสฟอรัสในปุ๋ย ถึงแม้จะละลายน้ำได้ง่าย แต่เมื่ออยู่ในดิน จะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ความเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง และไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนั้นเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตรงจุดไหน ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่าย ก็มักจะอยู่ตรงจุดนั้น ถ้าจะเคลื่อนย้ายจากจุดเดิม ก็เป็นระยะใกล้ๆ ในรัศมี ๑-๕ ซม. เท่านั้น ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืช จึงต้องให้อยู่ใกล้กับรากมากที่สุด เพื่อที่รากจะไม่เป็นอันตรายจากปุ๋ยนั้น การใส่บนผิวดิน จะเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าใส่ใต้ผิวดินในบริเวณที่รากจะแพร่กระจายไปได้ถึง ซึ่งผิดกับปุ๋ยไนโตรเจน ที่ใส่บนผิวดินก็สามารถซึมลงมายังบริเวณรากที่อยู่ใต้ผิวดินได้ง่าย ดังนั้น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนใต้ผิวดินจึงไม่มีข้อดีไปกว่า ใส่บนผิวดิน


ปุ๋ยโพแทสเซียมจะเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่าฟอสเฟต แต่จะช้ากว่าไนโตรเจน โพแทสเซียมในปุ๋ย ละลายน้ำได้ง่ายพอๆ กับไนโตรเจนก็จริง แต่เนื่องจากมีประจุบวก ซึ่งดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ จึงถูกชะล้างได้ยาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ได้ง่ายแก่พืชอยู่ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม จึงสามารถใส่บนผิวดิน หรือใต้ผิวดินก็ได้ แต่การเคลื่อนย้ายจะช้ากว่าไนโตรเจน และในเวลาเดียวกันการสูญเสียโดยการชะล้างก็ จะน้อยกว่าด้วย





ปุ๋ยเคมีใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ดีที่สุด

รูป ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์

เมื่อพิจารณาด้านการนำมาใช้ปรับปรุงดินเลวให้เป็นดินดีนั้น ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีต่างก็มีข้อได้เปรียบ และเสียเปรียบ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

ข้อได้เปรียบของปุ๋ยอินทรีย์

๑. ช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของดิน เช่น ความโปร่ง ความร่วนซุย ความสามารถในการอุ้มน้ำ และธาตุอาหารพืชของดินดีขึ้น ข้อดีข้อนี้ปุ๋ยอินทรีย์ทำได้แต่ผู้เดียว ปุ๋ยเคมีไม่สามารถทำได้

๒. อยู่ในดินได้นาน และค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้าๆ

๓. เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี จะส่งเสริมปุ๋ยเคมีให้เป็นประโยชน์แก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

๔. ส่งเสริมให้จุลินทรีย์ในดินโดยเฉพาะพวกที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงดินให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อเสียเปรียบของปุ๋ยอินทรีย์

๑. มีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำ

๒. ใช้เวลานานกว่าปุ๋ยเคมีในการปลดปล่อยธาตุอาหาร ที่จะเป็นประโยชน์ให้แก่พืช

๓. ราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมี เมื่อคิดเทียบในแง่ราคาต่อหน่วยน้ำหนักของธาตุอาหารพืช

๔. หายาก พิจารณาในแง่ เมื่อต้องการเป็นปริมาณมาก

ข้อได้เปรียบของปุ๋ยเคมี

๑. มีปริมาณธาตุอาหารต่อหน่วยน้ำหนักของปุ๋ยสูง ใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็พอ

๒. ราคาถูก เมื่อคิดเป็นราคาต่อหน่วยน้ำหนักของธาตุอาหาร ประกอบกับการขนส่ง และเก็บรักษาสะดวกมาก

๓. หาได้ง่าย ถ้าต้องการเป็นปริมาณมาก ก็สามารถหามาได้ เพราะเป็นผลิตผลที่ผลิตได้จากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

๔. ให้ผลทางด้านธาตุอาหารเร็วกว่าปุ๋ยอินทรีย์

ข้อเสียเปรียบของปุ๋ยเคมี

๑. ปุ๋ยเคมีไม่มีคุณสมบัติปรับปรุงสภาพทางฟิสิกส์ของดิน กล่าวคือ ไม่ทำให้ดินโปร่งร่วนซุยเหมือนปุ๋ยอินทรีย์

๒. ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียม ถ้าใช้เป็นปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องใช้ปูนช่วยแก้ความเป็นกรดของดิน

๓. ปุ๋ยเคมีทุกชนิดมีความเค็ม ถ้าใช้ในอัตราสูง หรือใส่ที่โคนต้นพืช จะเกิดอันตรายแก่พืชและการงอกของเมล็ด การใช้จึงต้องระมัดระวัง

๔. ผู้ใช้ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องปุ๋ยเคมีพอสมควร มิฉะนั้นอาจมีผลเสียหายต่อพืช และต่อภาวะเศรษฐกิจของผู้ใช้ (ทำให้ขาดทุนได้)

ดังนั้น จะเห็นว่า ตามที่ได้กล่าวมานี้ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ควรจะมีบทบาทร่วมกัน และสนับสนุนส่งเสริมกัน ที่จะสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดในแง่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน มากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งขันกัน ที่เกษตรกรจะต้องตัดสินใจ เลือกเอาการใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ดีที่สุด และควรเป็นนโยบายที่สำคัญในการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิงจาก : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




 ปุ๋ยอินทรีย์และเคมี
                  1.  ปุ๋ยอินทรีย์     เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังของซากสิ่งมีชีวิต  ได้แก่  ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยพืชสด  ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ  และวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด  เมื่อใส่ในดินซากสิ่งมีชีวิตจะค่อยๆสลายตัวและปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืช     แต่มีข้อเสียคือ  มีธาตุอาหารน้อยรวมทั้งมีปริมาณและสัดส่วนไม่แน่นอน
                  2.  ปุ๋ยเคมี  หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์     เป็นปุ๋ยที่ได้จากการผลิตหรือสังเคราะห์จากแร่ธาตุต่างๆ  หรือเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด  ซึ่งจะมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช  ได้แก่  ธาตุไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  และโพแทสเซียม  สามารถปลดปล่อยให้แก่พืชได้ง่ายและเร็ว  มี  2  ประเภทคือ
                      2.1  ปุ๋ยเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ย     เป็นสารประกอบที่มีธาตุอาหารของพืชอยู่หนึ่งหรือสองธาตุ  และมีปริมาณธาตุอาหารคงที่  เช่น  ปุ๋ยยูเรีย  และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต
                      2.2  ปุ๋ยผสม         เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำปุ๋ยเดี่ยวแต่ละชนิดมาผสมกันเพื่อให้ได้สัดส่วนของธาตุอาหาร  N  P  และ  K  ตามต้องการ  เช่น  ปุ๋ยสูตร  10  :  15  :  20  ประกอบด้วย N  10  ส่วน  P  15  ส่วน  K  20  ส่วน  และมีตัวเติมอีก  55  ส่วน  ให้ครบ  100  ส่วน
                นอกจากนี้  ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางชนิดอาจมีธาตุอาหารของพืชที่มีความสำคัญในลำดับรอง  ซึ่งพืชต้องการในปริมาณน้อย  ได้แก่  ธาตุแคลเซียม  กำมะถัน  แมกนีเซียม  เหล็ก  สังกะสี  แมงกานีส  และทองแดง  ผสมอยู่ด้วย 

 ปุ๋ยไนโตรเจน
เป็นปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจนเป็นธาตุหลัก ซึ่งช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี ลำต้น ใบ แข็งแรง สามารถสร้างโปรตีนได้อย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสารประกอบ เช่น
ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ((NH4 ) 2 SO4  ) เตรียมจากปฏิกิริยาระหว่างแก๊ส  NH3 กับ  H2 SO4
ปุ๋ยยูเรีย ( NH2CO NH2 ) เตรียมจากปฏิกิริยาระหว่างแก๊ส  NH3 กับแก๊ส  CO2
ดังนั้น  การผลิตปุ๋ยทั้งสองชนิดใช้แก๊ส  NH3  H2SO4  และ แก๊ส  CO2 เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ
วัตถุดิบที่ใช้เตรียมแก๊สแอมโมเนีย คือ ไนโตรเจน และ ไฮโดรเจน
         ไนโตรเจน เตรียมได้จากอากาศ โดยนำอากาศมาเพิ่มความดัน ลดอุณหภูมิให้กลายเป็นของเหลว แล้วเพิ่มอุณหภูมิถึงจุดเดือดของแก๊ส เพื่อแยกแก๊สไนโตรเจนออกจากอากาศ
          ไฮโดรเจน เตรียมจากแก๊สที่เหลือ(ออกซิเจนส่วนใหญ่) ทำปฏิกิริยากับแก๊สมีเทน หรือ ใช้ไอน้ำทำปฏิกิริยากับแก๊สมีเทน
การเตรียมแก๊สแอมโมเนีย นำแก๊ส N2 และ H2  ที่ผลิตได้มาทำปฏิกิริยากัน ได้แก๊ส  NH3
ดังนั้น  เมื่อนำแก๊ส  NH3  ทำปฏิกิริยากับแก๊ส CO2 จะได้ปุ๋ยยูเรีย ดังสมการ
                                           2NH3  +   CO2     ------------>        NH2CO2NH4
                                          NH2CO2NH4      ------------>         NH2CO NH2  +   H2O 
การเตรียม H2 SO4  - นำกำมะถันที่หลอมเหลว ทำปฏิกิริยากับ แก๊ส O2 ได้แก๊ส   SO2
                   -  นำแก๊ส   SO2 ทำปฏิกิริยากับแก๊ส O2 ได้แก๊ส   SO3
                   -  ผ่านแก๊ส   SO3 ในสารละลายกรด H2 SO4  เข้มข้น ได้สารละลายโอเลียม
                   -  นำสารละลายโอเลียม ละลายน้ำ ได้กรด H2 SO4
ดังนั้น   เมื่อนำแก๊ส  NH3  ทำปกิกิริยากับ กรด H2 SO4  จะได้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต  ดังสมการ
                                         2NH3  +  H2 SO4       ------------>        (NH4 ) 2 SO4


ปุ๋ยฟอสเฟต

ส่วนผสมจากหินฟอสเฟต
                  เป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสในรูปของสารประกอบฟอสเฟต ใช้หินฟอสเฟต(CaF2.3Ca3(PO4)2) เป็นวัตถุดิบการผลิตปุ๋ยฟอสเฟตทำได้ 3 วิธี
นำหินฟอสเฟตมาผสมกับทรายและโซดาแอช แล้วเผาที่อุณหภูมิ 1000-1200 องศาเซลเซียส
 2(CaF2 3Ca3(PO4)2) + 5SiO2 + 6Na2CO3    ------------>      12CaNaPO4 + 4Ca2SiO4 + SiF4 + 6CO2
 นำสารที่ได้จากการเผาเทลงน้ำ จะได้สารที่มีรูพรุน เปราะ
                  นำหินฟอสเฟตมาทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริก ได้ปุ๋ยฟอสเฟตที่มีคุณภาพสูงขึ้นโดยนำหินฟอสเฟตที่บดแล้วมาทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริก
                CaF.3Ca3(PO4)2 + 10H2PO4      ------------>        6H3PO4 + 10CaSO4 + 2HF
                  ได้กรดฟอสฟอริก (H2PO4) ซึ่ง จะไปทำปฏิกิริยากับหินฟอสเฟตที่เหลือ จะได้มอนอแคลเซียมฟอสเฟต (Ca(H2PO4)2) หรือปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตละลายน้ำได้ดี
                   หรือสามารถผลิตปุ๋ยฟอสเฟตโดยนำหินฟอสเฟตมาทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริก
                CaF.3Ca3(PO4)2 + 7H2PO4 + 3H2O   ------------>        3Ca(H2PO4)2.H2O + 7CaSO4 + 2HF  
                
                  จากปฏิกิริยา ทั้งสาม จะพบว่าในส่วนประกอบหินฟอสเฟตจะมี CaF2  ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับกรดจะได้ HF ซึ่งระเหยง่ายและเป็นพิษบางส่วนจะทำปฏิกิริยากับ SiO2 เกิดเป็นแก๊ส SiF4ซึ่งรวมกับน้ำทันทีเกิดเป็น H2SiF6 หรืออาจนำ SiO2 มาทำปฏิกิริยากับ HFโดยตรงเกิดเป็น H2SiF6 และเมื่อนำมาทำปฏิกิริยาต่อกับ MgO จะได้แมกนีเซียมซิลิโกฟลูออไรด์ (MgSiF6) ใช้เป็นสารกำจัดแมลง   HF ส่วนใหญ่จะระเหยกลายเป็นไอ จึงกำจัดโดยการผ่านแก๊ส ลงในน้ำทำให้ได้สารที่เป็นกรด ซึ่งทำให้เป็นกลางโดยทำปฏิกิริยากับโซดาแอชหรือหินปูน
                                   2HF + Na2CO3     ------------>    2NaF + H2O + CO2
                                   2HF + CaCO3       ------------>     CaF + H2O + CO2


ปุ๋ยโพแทส
                  ปุ๋ยโพแทสคือปุ๋ยเคมีที่มีธาตุโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ ปุ๋ยชนิดนี้นิยมบอกความเข้มข้น เป็นค่าร้อยละโดยมวลของ K 2O ปุ๋ยโพแทสเซียมชนิดต่างๆนั้นพอจะกล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้คือ     โพแทสเซียมคลอไรด์  (KCl)ปุ๋ยที่บริสุทธิ์ 95% นั้นจะมีโพแทสเซียมที่อยู่ในรูป K2O เท่ากับ 60% ผลิตมาจากสินแร่โพแทสเซียม เช่น sylvinite  เป็นต้น และมีชื่อได้อีกว่า muriate of potash ในสมัยก่อน แหล่งของปุ๋ยโพแทสได้จากขี้เถ้าจากเตาถ่าน หรือจากการเผากิ่งไม้ ใบไม้และเศษเหลือของพืช
                  ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทสเป็นจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในรูปของแร่คาร์นัลไลต์   ( KCl.MgCl 2.6H 2O ) และแร่ซิลวาไนต์ ( KCl.NaCl) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสชนิดต่างๆ เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์ ( KCl) โพแทสเซียมซัลเฟต ( K 2SO 4) โพแทสเซียมไนเตรต ( KNO 3 ) และโพแทสเซียมแมกนีเซียมซัลเฟต ( K 2SO 4.2MgSO 4  )
                  1.ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ผลิตได้จากแร่ซิลวาไนต์ มาบดให้ละเอียดแล้วทำให้บริสุทธิ์ โดยละลายแร่ในน้ำอุณหภูมิประมาณ 90 C  เติมสารละลาย   NaCl ที่อิ่มตัวลงไป กรองแยกโคลนและตะกอนออก ระเหยน้ำเพื่อให้สารละลายมีความเข้มข้นมากขึ้นจนทำให้ KCl ตกผลึก แยกผลึกออกแล้วอบให้แห้ง จะได้ปุ๋ย KCl ตามต้องการ นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตปุ๋ยชนิดนี้จากน้ำทะเล โดยการระเหยน้ำทะเลด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์เพื่อให้มีความเข้มข้นสูงขึ้น เกลือ NaCl จะตกผลึกแยกออกมาก่อน นำสารละลายที่ได้ไประเหยน้ำออกเพื่อทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นทำให้ KCl ตกผลึก   ออกมาและใช้เป็นปุ๋ย KCl ได้
                  2.ส่วนปุ๋ยโพแทสซียมซัลเฟต ผลิตได้จากการนำแร่แลงไบไนต์ ( K 2SO 4.2MgSO 4  ) มาละลายในน้ำอุณหภูมิประมาณ 50 C  จนเป็นสารละลายอิ่มตัว แล้วเติมสารละลาย KCl เข้มข้นลงไป จะได้ผลึก K 2SO 4 แยกออกมาดังสมการ
                    K2SO4.2MgSO4 +  4KCl    ------------>         3K2SO4  +  2MgCl2

                  3.นอกจากนี้ถ้านำ KCl มาทำปฏิกิริยากับ NaNO 3 จะได้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต  (KNO 3 ) ดังสมการ
                    KCl  +  NaNO3     ------------>        KNO3  +  NaCl
โพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืชมาก ทำให้ผนังเซลล์ของพืชหนาขึ้น สร้างภูมิต้านทานโรค และเป็นตัวเร่งให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ถ้าพืชขาดโพแทสเซียมจะทำให้มีปริมาณแป้งต่ำกว่าปกติ ผลผลิตน้อยลง ขอบใบมีสีซีด ลำต้นอ่อน แคระแกร็นและเมล็ดลีบ



หัวใจของธาตุอาหารต่างที่เราต้องรู้                           

ชื่อธาตุ(ทั้งไทยและอังกฤษ)          สัญลักษณ์    น้ำหนักอะตอม(น้ำหนักตัว)         รูปที่พืชดูดไปใช้
คาร์บอน             Carbon                 C                   12                      CO2                                                   
ออกซิเจน           Oxygen                O                   16                      O2, H2O
ไฮโดรเจน           Hydrogen             H                   1                      H2O

ไนโตรเจน           Nitrogen               N                   14                      NO3-,   NH4+
ฟอสฟอรัส            Phosphorus          P                    31                     H2PO4-,   HPO4--
โพแทสเซียม        Potassium             K                    39                     K+
แคลเซียม            Calcium                Ca                 40                     Ca++
แมกนีเซียม          Magnesium           Mg                 24                     Mg++
กำมะถัน              Sulphur                S                   32                     SO3--,   SO4--
สังกะสี                Zinc                    Zn                 65.5                   Zn++
เหล็ก                 Iron                    Fe                 56                     Fe++
แมงกานีส            Manganese          Mn                55                      Mn++
โบรอน               Boron                  B                   11                      H3BO3
ทองแดง             Copper                Cu                63.5                   Cu++
คลอรีน               Chlorine               Cl                  35.5                    Cl-
โมลิบดินัม           Molybdenum        Mo                 96                      MO4--
นิคเกิล               Nickel                  Ni                  58.7                    Ni++
      สิ่งที่เอามาแนะนำคือข้อมูลเบื้องต้นที่เราควรรู้   เรียกชื่อให้ถูก   เขียนสัญลักษณ์ให้เป็น   รู้น้ำหนักตัวของแต่ละ   ธาตุ    จะช่วยให้เราคำนวณหา%เนื้อในองค์ประกอบได้   ธาตุเดี่ยวๆที่มีประจุ ++ เป็นกลุ่มโลหะสามารถทำเป็นรูปคีเลท ( Chelate )ได้     กลุ่ม +/- อื่นๆแสดงให้เรารู้ว่าเป็นกรดหรือด่าง และเป็นการสื่อให้เรารู้ว่าเค้าจะจับกันเป็นรูปแบบไหน
        ปุ๋ย   เป็นเกลือของธาตุที่เกิดจากกรดและด่างทำปฏิกิริยากัน   ที่นิยมเอามาใช้  เช่น
กรดเกลือ  ( HCl    Hydrochloric acid )    เป็นเกลือคลอไรด์ ( Chloride )  เช่น                                         
โพแทสเซียมคลอไรด์            ( KCl   0-0-60 + Cl  47% )
กรดฟอสฟอริก ( H3PO4     Phosphoric acid )   เป็นเกลือฟอสเฟต ( Phosphate )  เช่น                                            
โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต  ( NH4H2PO4  12-60- 0 )                                                                                 
ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต        ( (NH4)2HPO4    20-50-0 )                                                                          
โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต    ( KH2PO4    0-52-34 )                                                                                
ไดโพแทสเซียมฟอสเฟต       ( K2HPO4    0-42-56 )
กรดกำมะถัน ( H2SO4    Sulfuric acid )   เป็นเกลือซัลเฟต  ( Sulphate )   เช่น                                     
โพแทสเซียมซัลเฟต         ( K2SO4   0-0-50 + S 18% )                                                                                                   
แคลเซียมซัลเฟต                ( CaSO4  Ca  29% + S  23% )
กรดไนตริก  ( HNO3    Nitric acid )   เป็นเกลือไนเตรท  ( Nitrate )   เช่น                                                  
โพแทสเซียมไนเตรท           ( KNO3   13-0-46 )                                                                                                                   
แคลเซียมไนเตรท   ( Ca(NO3)2  15-0-0 + Ca 19% )                                                                                            
แมกนีเซียมไนเตรท             ( Mg(NO3)2  11-0-0 + Mg 10% )                                                                       
เรื่องของปุ๋ยจริงๆแล้วก็ไม่ได้มีมากกว่านี้ ค่อยๆอ่าน ทำความเข้าใจไปทีละขั้น    สิ่งที่เราต้องรู้ต่อคือสูตรโครงสร้างของเกลือแต่ละชนิด  การอ่านชื่อให้ถูกต้อง  (ย้อนไปดูที่ผ่านมา)                                                
ตัวเลข 3 ชุดที่อยู่บนฉลากหมายถึงอะไร  ขอยกตัวอย่าง
ตัวเลข 3 ชุดที่อยู่บนฉลาก  เช่น 20-20-20  หมายถึงปุ๋ยนั้น 100 หน่วยน้ำหนัก    มีธาตุอาหาร                                                            
ในรูปไนโตรเจน       โดยคิดจาก ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ( Total  N )                     อยู่  20 หน่วยน้ำหนัก
ในรูปฟอสฟอรัส       โดยคิดจาก  ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ ( Available  P2O5  )          อยู่  20 หน่วยน้ำหนัก
ในรูปโพแทสเซียม   โดยคิดจาก  โพแทสเซียมที่ละลายน้ำ  ( Water  soluble  K2O )     อยู่  20 หน่วยน้ำหนัก
รูปของปุ๋ยที่เราใช้กันทางการเกษตร   หลักๆก็มี
1. ปุ๋ยเม็ด ( Granular  fertilizer )  เป็นปุ๋ยที่ใช้ใส่ให้พืชทางดิน     แม่ปุ๋ยที่ใช้เป็นเกลือคลอไรด์  เกลือฟอสเฟต  เกลือซัลเฟต   เกลือไนเตรทและยูเรีย

2. ปุ๋ยเกล็ด ปุ๋ยให้ทางใบ ปุ๋ยทางระบบน้ำ ( Foliar   or   Fertigation   fertilizer  ) เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำ แล้วฉีดพ่นไปบนพืชหรือให้ไปทางระบบรดน้ำ   ปกติปุ๋ยเกล็ดโดยทั่วไปจะละลายน้ำได้ประมาณ   400 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ที่  20 องศาเซลเซียส   แม่ปุ๋ยที่ใช้เป็น   เกลือฟอสเฟต   เกลือซัลเฟต   เกลือไนเตรท และ  ยูเรีย
3. ปุ๋ยน้ำ ( Liquid    fertilizer  ) เป็นการใช้ปุ๋ยเกล็ดมาละลายน้ำ ใช้ฉีดพ่นหรือให้ไปทางระบบน้ำได้เหมือนกัน แต่เนื้อปุ๋ยในปุ๋ยน้ำจะต่ำกว่าปุ๋ยเกล็ด   เพราะขึ้นอยู่กับความสามารถในการละลายตัวของแม่ปุ๋ยที่นำมาใช้   ข้อเสียเปรียบคือ  เนื้อปุ๋ยต่ำกว่า  ต้องมีภาชนะบรรจุเฉพาะ เปลืองพื้นที่ในการขนส่ง ราคาต่อหน่วยเนื้อปุ๋ยแพงกว่า
4. ปุ๋ยควบคุมการละลาย ( Control   release   fertilizer ) เป็นการนำปุ๋ยเกล็ดมาเคลือบด้วยสารต่างๆ   เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยออกมา  โดยปกติทั่วไปจะปลดปล่อยมากน้อยขึ้นกับความชื้นหรืออุณหภูมิ  เช่น  ออสโมโคทขึ้นกับความชื้น      เทอร์โมโคทขึ้นกับอุณหภูมิ

ปุ๋ยโพแทส
ปุ๋ยโพแทสคืออะไร
โพแทสเซียมเป็นธาตที่มีองค์ประกอบอยู่ในหินและแร่ต่างๆ พบมากในผิวโลกเป็นลำดับที่ 7 แร่ปฐมภูมิที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ ออร์โทเคลส (orthoclase) ไมโครไคลน์ (microcline) มัสโคไวต์ (muscovite) และไบโอไทต์ (biotite) และยังพบในเกลือโพแทสอยู่มากในหินตะกอน ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนภายในทะเลหลังจากการระเหยของน้ำทะเล แร่นี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทสมาก เกลือของโพแทสเซียมที่ใช้ผลิตเป็นปุ๋ย เรียกว่า ปุ๋ยโพแทส (potash fertilizer)
 ปุ๋ยโพแทส-คือ1
ในสมัยก่อนปุ๋ยโพแทสนั้นไม่มาจากการเผาใบไม้ กิ่งไม้และหญ้า  เกลือโพแทสคาร์บอเนตที่ได้จากน้ำชะเถ้าไม้ การชะทำให้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ละลายน้ำ ต่อมาด่างชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ได้โพแทสเซียมคาร์บอเนต ในงานอุตสาหกรรม ใช้คำว่า โพแทส ใช้เรียกปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ กับ การใช้เป็นหน่วยความเข้มข้นของธาตุอาหาร เช่น ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์มีโพแทสที่ละลายน้ำอยู่ 60% การผลิตเกลือโพแทสแบบอุตสาหกรรมเริ่มครั้งแรกในประเทศเยอรมัน สำหรับในประเทศไทย พบแหล่งแร่โพแทสที่ค่อนข้างใหญ่ในแถบภาคอีสาน ในแอ่งโคราช (Khorat basin) และแอ่งสกลนคร (Sakhon Nakhon basin) แร่สำคัญที่พบอยู่ในรูปของแร่คาร์นัลไลต์และแร่ซอลวาไนต์ ในแอ่งโคราช พบแร่คาร์นัลไลต์ ส่วนในแอ่งสกลนคร พบแร่ซอลวาไนต์ เป็นจำนวนมาก

ในปัจจุบัน 95% ของเกลือโพแทสทั่วโลกใช้เป็นปุ๋ย ส่วนอีก 5% ที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ และอีก 92% ของปุ๋ยคือโพแทสเซียมคลอไรด์หรือ muriate of potash : MOP เกลือโพแทสของ muriatic acid หรือกรดไฮโดรคลอริก ส่วนที่เหลือเป็นปุ๋ยโพแทสชนิดอื่นๆ ได้แก่ โพแทสเซียมซัลเฟต (sulfate of potash,SOP) โพแทสเซียมไนเทรต และโพแทสเซียมฟอสเฟต หินตะกอนซึ่งมีแร่โพแทส เกิดในทะเลปิดสมัยโบราณ ซึ่งน้ำทะเลได้ระเหยออกไปเรื่อยๆจนมีความเข้มข้นสูงในระดับหนึ่ง เกิดการตกผลึกของแมกนีเซียมคาร์บอเนต เกลือแคลเซียมคาร์บอเนต และแคลเซียมซัลเฟต ส่วนที่เหลือเป็นของเหลวคือเกลือโซเดียมและเกลือโพแทสเป็นส่วนใหญ่
 เมื่อน้ำระเหยต่อไปอีกจะได้การตกผลึกของโซเดียมคลอไรด์และแมกนีเซียมและโพแทสเซียมคลอไรด์ ทำให้พบชั้นแร่เรียงตัวกันเป็นชั้นๆ แร่ซิลไวต์ (sylvite) เป็นแร่ที่มีโพแทสเซียมสูงที่สุด แต่ส่วนใหญ่ที่ขุดพบได้จะเป็นแร่ซิลวิไนต์ (sylvinite) ซ่งประกอบไปด้วยแร่ซิลไวต์และฮาไลต์ (hallite) ผสมกันอยู่ แร่ไคไนต์ (kainite) และแลงไบไนต์ (langbeinite) ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม สำหรับแร่แลงไบไนต์ สามารถนำมาแต่งแร่และขจัดสิ่งเจอปนที่มีเกลือคลอไรด์ออกไป จะได้ปุ๋ยธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน ในเหมืองโพแทสบางแห่ง พบแร่คีเซอไรต์ (kieserite) ปะปนอยู่ เมื่อนำมาขจัดสิ่งเจอปนแล้ว สามารถนำมาจำหน่ายเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุแมกนีเซียมและกำมะถัน ในปัจจุบันปุ๋ยโพแทส 94% ได้จากแหล่งแร่ใต้ดิน ส่วนอีก 6% นั้นมาจากการระเหยของน้ำทะเลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
 ปุ๋ยโพแทส-คือ2
ปุ๋ยโพแทสปลอดคลอไรด์ (chloride free fertilizers)
หมายถึงปุ๋ยซึ่งมีคลอไรด์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยปกติมักไม่เกิน 3% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศด้วย ปุ๋ยปลอดคลอไรด์มีความเหมาะสมกับการใช้ในกรณีต่อไปนี้
1.ใช้กับพืชบางชนิดซึ่งคลอไรด์ทำให้ผลผลิตของพืชเลวลง การใช้ปุ๋ยชนิดนี้จึงเหมาะกับพืชดังกล่าว เช่น ยาสูบ
2.ดินในบางท้องที่มีคลอไรด์สะสมอยู่มากหรือน้ำในพื้นที่นั้นมีคลอไรด์ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้งานปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์หรือแอมโมเนียมคลอไรด์ อาจจะทำให้พืชสะสมคลอไรด์เกินความจำเป็นจนอาจจะกลายเป็นพิษ จึงควรเลี่ยงโดยการใช้ปุ๋ยปลอดคลอไรด์ สำหรับปุ๋ยโพแทสปลอดคลอไรด์ มี 3 อย่างคือ โพแทสเซียมซัลเฟต โพแทสเซียมไนเทรต และโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต แต่ละชนิดก็จะมีไอออนแตกต่างกันไป จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะตามสภาพการใช้งาน เช่น ควรใช้โพแทสเซียมซัลเฟตในดินที่ขาดแคลนทั้งโพแทสเซียมและกำมะถัน แต่ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาต่อหน่วยน้ำหนักโพแทสแพงกว่าโพแทสเซียมคลอไรด์มาก จึงควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
- โพแทสเซียมซัลเฟต มีการผลิตอยู่ 2 แนวทาง คือ ใช้กระบวนการแต่งแร่ซัลเฟตให้สะอาดและ ใช้ประบวนการแปรสภาพแร่โพแทสด้วยความร้อน
- โพแทสเซียมไนเทรต เป็นสารเคมีที่รูจักกันมาแต่โบราณ ชาวอียิปต์ใช้ผสมสารเคลือบถ้วยชาม ชาวจีนใช้ทำดินปืน ชื่อดั้งเดิมของสารนี้ คือ saltpeter มาจากแหล่งที่ค้นพบเกลือชนิดนี้ คือ เกลือเพทรา (Petra) ค้นพบจากถ้ำหลายแห่ง คนโบราณผลิตแร่โพแทสเซียมไนเทรตจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ มูลสัตว์ (อุจจาระและปัสสาวะของสัตว์) และการตกผลึกจากน้ำเค็มในทะเลสาบเดดซีซึ่งอยู่ระหว่างอิสราเอลและจอร์แดน
- โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต คือ โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต-โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต หรือ MPP-MAP  เป็นปุ๋ยที่มีศักยภาพทางการเกษตร เนื่องจากมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในรูปที่เป็นประโยชน์ค่อนข้างสูง ปุ๋ยทั้งสองมีเกรด 0-52-34 และ 6-56-18 ตามลำดับ ลักษณะเด่นของปุ๋ยทั้งสอง คือ สมบัติทางกายภาพดี และมีสารประกอบฟอสเฟตแตกตัวง่าย จึงเป็นประโยชน์ต่อพืชได้เร็วกว่าโมโนแคลเซียมฟอสเฟต (ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูง ทำให้ปุ๋ยชนิดนี้ราคาค่อนข้างแพง จึงไม่เป็นที่นิยมนัก แต่นักวิจัยก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้นทุนต่ำลง เพื่อให้ราคาที่จำหน่ายสามารถแข่งขันกับปุ๋ยอื่นๆได้
ปุ๋ยโพแทส-คือ3
การผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์
- เริ่มต้นจากการขุดแร่โพแทสจากเหมือง นำมาแต่งแร่ให้สะอาดและเพิ่มขนาดอนุภาคของปุ๋ย แหล่งแร่มักจะอยู่ใต้ดินที่ระดับลึกลงไป 300-1700 เมตร ยิ่งแหล่งแร่อยู่ลึกมากเท่าใด การใช้เงินลงทุนในการขุดแร่นั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้น การขุดแร่นั้นแบ่งออกได้ 2 วิธี คือ การขุดแร่ทางอุโมงค์แนวตั้ง (shaft mining) และ เคลื่อนย้ายแร่ด้วยสารละลาย (solution mining) ส่วนเกลือโพแทสในน้ำทะเลก็แยกออกได้โดยการตกผลึก
 การขุดแร่ด้วยอุโมงค์แนวตั้งนั้น เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด เริ่มต้นด้วยการทำอุโมงค์แนวดิ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 เมตร ลึกลงไปถึงสายแร่ ใช้อุโมงค์นี้ในการนำแร่ขึ้นมา ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่หลายชนิด อาจจะมีการเจาะระเบิดร่วมด้วย อุโมงค์นี้จะลำเลียงคนขึ้นลงรวมถึงใช้เป็นช่องระบายอากาศด้วย การขนย้ายแร่จะทำโดยการใช้สายพานลำเลียงก้อนแร่มาที่พักชั่วคราว เมื่อได้แร่จำนวนที่มากพอ จึงลำเลียงขึ้นจากอุโมงค์ด้วยลิฟต์เพื่อบดและเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
 เหมืองแร่บางแห่งอาจจะทำอุโมงค์แบบเอียง (inclined shaft) เพื่อให้การขนแร่สู่ผิวดินโดยใช้สายพานเลื่อน ส่วนการเคลื่อนย้ายแร่ด้วยสารละลาย (solution mining) แร่บางแห่งอยู่ลึกในใต้ดินมากกว่า 1500 เมตร ไม่อาจใช้วิธีขุดอุโมงค์แบบแนวตั้งได้ จึงได้มีการคิดค้นวิธีการใหม่ โดยใช้หลักการที่ว่า แร่ซิลไวท์ละลายน้ำเค็มที่มีอุณหภูมิสูงได้ดีกว่าแร่ฮาไลต์มาก จึงมีขึ้นตอนการนำแร่ขึ้นมาจากใต้ดิน โดยเจาะและฝังท่อจากผิวดินจนถึงชั้นแร่ นำน้ำเค็มมาเพิ่มความร้อนจนมีอุณหภูมิสูง แล้วอัดเข้าไปในท่อเพื่อละลายแร่ซิลไวต์ในชั้นอร่จนอิ่มตัวสูบสารละลายขึ้นมายังบ่อพักข้างบนที่มีหลายบ่อเรียงกัน เมื่อสารละลายอิ่มตัวนี้เย็นลง โพแทสเซียมคลอไรด์ก็จะตกผลึก จึงใช้เครื่องดูดเกลือดังกล่าวส่งไปโรงงานผลิตเพื่อแยกสิ่งเจือปนต่างๆและนำน้ำเค็มจากบ่อพักมาทำให้ร้อน แล้วอัดเข้าท่อเพื่อละลายแร่ซิลไวต์ในชั้นแร่จนอิ่มตัวอีกครั้งหนึ่ง
- การผลิตปุ๋ยโพแทสจากน้ำทะเล ในทะเลสาบน้ำเค็มบางแห่ง มีโพแทสเซียมคลอไรด์สูง เมื่อสูบมาพักในบ่อตื้นที่มีหลายๆบ่อ โดยปล่อยให้น้ำเค็มในบ่อแรกระเหยแห้งด้วยแสงอาทิตย์ จนถึงระดับความเข้มข้นที่โซเดียมคลอไรด์ตกผลึก ต่อจากนั้นจึงสูบน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นสูงในบ่อแรกมาพักต่อในบ่อที่สอง จนคาร์นาลไลต์ตกผลึก แล้วจึงสูบแร่คาร์นาลไลต์จากก้นบ่อ ส่งเข้าโรงงานเพื่อแยกเอาโพแทสเซียมคลอไรด์มาใช้ประโยชน์ต่อไป
 การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์มีอยู่ 2 แบบ คือ การใส่ให้พืชโดยตรงและใช้ผลิตปุ๋ยผสม ปุ๋ยแบบผสมนั้นจะแตกต่างกันไปตามโรงงานที่ผลิต เพื่อให้ได้ปุ๋ยแต่ละแบบแต่ละเกรดเพื่อความแตกต่าง และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆนั้น มีความต้องการใช้ปุ๋ยอนุภาคโตขึ้นกว่าที่เคยใช้ในอดีต
ปุ๋ยโพแทส-คือ4
การเปลี่ยนแปลงของปุ๋ยโพแทสในดิน
โพแทสเซียมในดินแบ่งตามความเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดังนี้
1.รูปที่พืชดูดไปใช้ได้ง่าย คือ โพแทสเซียมไอออนในสารละลายดินและโพแทสเซียมไอออนที่แลกเปลี่ยนได้
2.รูปทีเป็นประโยชน์แก่พืชอย่างช้าๆ (slowly available K) คือโพแทสเซียมที่ถูกตรึง (fixed K) อยู่ในหลืบของแร่ดินเหนียวพวก 2:1 หรือเป็นรูปที่แลกเปลี่ยนไม่ได้ (nonexchangeable)
3.ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์กับพืช (unavailable K) คือ โพแทสเซียมที่เป็นองค์ประกอบของแร่ต่างๆในดิน สำหรับธาตุในดินอาจสูญหายไปได้ 3 ทาง คือ พืชดูดซึมไปใช้ การถูกชะล้าง และการติดไปกับมวลดินที่กร่อน

การที่พืชเจริญเติบโตในดินได้โดยไม่ขาดแคลนโพแทสเซียม แสดงว่านอกจากรากพืชจะดูดธาตุนี้ในรูปที่เป็นประโยชน์จากสารละลายดินที่แลกเปลี่ยนได้มาใช้แล้ว ดินนั้นยังสามารถปลดปล่อยโพแทสเซียมที่ถูกตรึงและเป็นองค์ประกอบของแร่ ออกมาให้พืชใช้ได้อย่างต่อเนื่องและพอเพียงด้วย แต่ถ้าพืชชนิดนั้นๆต้องการโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงกว่าความสามารถที่ดินจะมีให้ได้ ก็จะเป็นต้องใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเพิ่มในอัตราที่เหมาะสม ดังนั้น
 ปุ๋ยโพแทส-คือ5
นอกจากการใส่ปุ๋ยโพแทสจะให้โพแทสเซียมเพิ่มแก่ดินแล้ว ยังให้ธาตุอาหารในรุปแบบอื่นๆที่เป็นประโยชน์ แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของปุ๋ยอีกด้วย เช่น โพแทสเซียมซัลเฟตให้โพแทสเซียมกับกำมะถัน ส่วนโพแทสเซียมไนเทรตให้โพแทสเซียมกับไนโตรเจน เป็นต้น โพแทสเซียมไอออนที่เพิ่มขึ้นในสารละลายดินอย่างมาก เมื่อใส่ปุ๋ยโพแทสนั้น อาจจะมีการกระทบกับสมดุลของธาตุนี้ที่มีอยู่เดิมในดิน เมื่อโพแทสเซียมไอออนแตกตัวในสารละลายดินในปริมาณมาก จะเคลื่อนย้ายมาดูดซับที่ผิวของคอลลอยด์ดิน ทำให้ปริมาณของส่วนที่แลกเปลี่ยนได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้โพแทสเซียมไอออนบางส่วนจากปุ๋ยยังถูกดินเหนียวตรึงไว้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเราใส่ปุ๋ยโพแทสลงในดิน ความเข้มข้นของโพแทสเซียมที่มีประโยชน์ต่อพืชในดินก็จะสูงขึ้นด้วย แต่จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยโพแทสที่ใส่และความสามารถในการตรึงปุ๋ยของดินบริเวณนั้นๆด้วย




    ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย   
10.1 คำนำ
    พืชที่ขึ้นบนพื้นดินจะได้รับธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่จากดินนอกเสียจากธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่พืชได้รับมาจากน้ำและอากาศ ตลอดเวลาพืชจะดูดธาตุอาหารไปจากดินหรือวัสดุปลูก(media) เพื่อนำไปสร้างส่วนต่างๆ ของลำต้นและให้ผลผลิตออกมา ปริมาณธาตุอาหารที่พืชดูดไปใช้จึงมีมากมายมหาศาล ในขณะที่การสร้างเพิ่มเติมหรือการทดแทนตามธรรมชาติเกิดขึ้นไม่มาก และขณะเดียวกันก็มีการชะล้างธาตุอาหารพืชออกไปจากดินได้มาก ทำให้ธาตุอาหารพืชในดินลดน้อยลงไป ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้ธาตุอาหารพืชเพิ่มเติมให้กับพืชเพื่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตตามปกติ สารที่ให้ธาตุอาหารที่ใส่ลงไปให้กับพืชเรียกว่าปุ๋ย (fertilizer) ดังนั้นปุ๋ย หมายถึงสารที่ใส่ลงไปในดินหรือวัสดุปลูกพืชอื่นๆ เพื่อต้องการที่จะให้ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และหรือธาตุอาหารอื่นเพิ่มเติมแก่พืชสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในระดับปกติ

10.2 คำจำกัดความเกี่ยวกับปุ๋ย
                                                   
    ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าปุ๋ยไว้ว่า "ปุ๋ยหมายถึงสารอินทรีย์ หรืออนิน ทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นอาหารธาตุแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงการเจริญเติบโตแก่พืช"
    เกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อประโยชน์เพื่อการศึกษาหรือในการใช้เช่น
    1) ธาตุอาหารปุ๋ย (fertilizer element) หมายถึง ธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่นธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแทสเซียม (K)
    2) วัสดุปุ๋ย (fertilizer material) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชอยู่ตั้งแต่หนึ่งธาตุขึ้นไป และสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ เช่น ยูเรีย เป็นวัสดุปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจน
    3) ปุ๋ยผสม (mixed fertilizer) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีวัสดุปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปผสมกันและมีธาตุอาหารปุ๋ยตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไปเป็นองค์ประกอบหลักของวัสดุนั้น
    4) เกรดปุ๋ย (fertilizer grade) หมายถึง การรับประกันปริมาณต่ำสุดของธาตุอาหารปุ๋ยที่มีอยู่ในปุ๋ยชนิดนั้น
โดยจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของไนโตรเจนทั้งหมด (total N) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (available P2O5) และโปแทสเซียมที่ละลายน้ำ (water soluble K2O)
    5) สัดส่วนปุ๋ย (fertilizer ratio) หมายถึง สัดส่วนของ N: P2O5: K2O ที่เป็นเกรดของปุ๋ยแต่ละชนิด เช่น ปุ๋ยเกรด 6-24-6 จะมีสัดส่วนปุ๋ยเป็น 1:4:1 เป็นต้น
    6) ปุ๋ยสมบูรณ์และปุ๋ยไม่สมบูรณ์ (complete and incomplete fertilizers) หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยครบทั้ง 3 ธาตุ และปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยไม่ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น อาจมีเพียง 1 หรือ 2 ธาตุ ตามลำดับ
    7) ตัวเติมในปุ๋ย (filler) หมายถึง วัสดุหรือสารใดๆ ที่ใช้ผสมลงไปในปุ๋ยผสมเพื่อให้ปุ๋ยผสมมีน้ำหนักครบตามต้องการ สารที่เติมลงไปต้องไม่ทำปฏิกริยากับวัสดุปุ๋ยหรือธาตุอาหารปุ๋ยที่ใช้ เช่น ทรายละเอียด ขี้เลื่อย หรือสารสังเคราะห์อื่นๆ
                            
 10.3 ประเภทของปุ๋ย                                                                         
    ปุ๋ยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปสามารถจำแนกออกได้หลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยืดถืออะไรเป็นหลักในการแยกตัวอย่างการจำแนกประเภทของปุ๋ย เช่น
    10.3.1 ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาสภาพของสารประกอบที่ใช้เป็นวัสดุปุ๋ย
    แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
    1) ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น
    2) ปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอนินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น

10.3.2 ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาวิธีการได้มาของปุ๋ย             
    แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
    1) ปุ๋ยธรรมชาติ (natural fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยกระดูกป่น ปุ๋ยหินฟอสเฟต เป็นต้น
    2) ปุ๋ยสังเคราะห์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (synthetic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์หรือผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น
    10.3.3 ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาธาตุอาหารปุ๋ยเป็นหลัก                        
    ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 3 ประเภทคือ
    1) ปุ๋ยไนโตรเจน (nitrogen fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เลือดแห้ง เป็นต้น
    2) ปุ๋ยฟอสฟอรัส (phosphorus fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยหินฟอสเฟต กระดูกป่น เป็นต้น
    3) ปุ๋ยโปแทสเซียม (potassium fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารโปแทสเซียมเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยโปแทส
เซียมซัลเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น
    10.3.4 ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาเกรดปุ๋ยเป็นหลัก                    
    ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 4 ประเภทคือ
    1) ปุ๋ยเกรดต่ำ (low grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหาร แต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
    2) ปุ๋ยเกรดปานกลาง (medium grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 15-25 เปอร์เซ็นต์
    3) ปุ๋ยเกรดสูง (high grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 25-30 เปอร์เซ็นต์
    4) ปุ๋ยเข้มข้น (concentrated fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วเกิน 30 เปอร์เซ็นต์
    ตัวอย่างปุ๋ยชนิดต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปแสดงไว้ในตารางที่ 10.1 ส่วนใหญ่แล้วปุ๋ยที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์เกรดต่างๆ เช่น 16:20:0, 15:15:15 เป็นต้น
     ตารางที่ 10.1 ตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจน ฟอรฟอรัส และโปแทสเซียมทั้งที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์และปริมาณธาตุอาหาร N ของปุ๋ยนั้นๆ

วัสดุ/ชนิดปุ๋ย
%N
%P2O5
%K2O

ปุ๋ยไนโตรเจน
กากเมล็ดถั่วเหลือง
7.0
-
-
ขี้ค้างคาว
6.0
-
-
แอมโมเนียมซัลเฟต
20.0
-
-
ยูเรีย
46.0
-
-

ปุ๋ยฟอสฟอรัส
กระดูกสัตว์ป่น
24.0
-
หินฟอสเฟต
-
30.0
-
ซูเปอร์ฟอสเฟต
-
20.0
-
ดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต
-
32.0
-

ปุ๋ยโปแทสเซียม
โปแทสเซียมคลอไรด์
-
-
48-60
โปแทสเซียมซัลเฟต
-
-
48-50
โปแทสเซียมไนเตรด
-
-
64
โปแทสเซียมมีตาฟอสเฟต
-
-
35-38


    ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่มากมาย ปุ๋ยพวกนี้จะมีธาตุอาหารอยู่ในปริมาณต่ำ แต่จะมีธาตุอาหารต่างๆ มากชนิดครบตามความต้องการของพืช นอกจากการให้ธาตุอาหารแก่พืชแล้วปุ๋ยพวกนี้ยังมีคุณสมบัติในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินได้ดีอีกด้วย ตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น สำหรับรายละเอียดและปริมาณธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ 10.2 10.3 และ 10.4

10.4 ปุ๋ยผสม                                                                              
    ปุ๋ยผสม (mixed fertilizer) เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากวัสดุปุ๋ยหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าแม่ปุ๋ยมาผสมกันเพื่อเพิ่มชนิด และปริมาณธาตุอาหารให้แก่พืช หรือให้ได้ปุ๋ยที่มีเกรดต่างๆ เหมาะสมกับการใช้ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากในบางครั้งพืชที่ปลูกอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศและการปฏิบัติดูแลรักษาต่างๆ กัน ทำให้พืชต้องการปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหาร

    ตารางที่ 10.2 ปุ๋ยคอกและปริมาณธาตุอาหารต่อน้ำหนักแห้ง

มูลสัตว์ต่าง ๆ
%N
%P2O5
%K2O
ไก่
1.8-2.9
2.4-4.8
0.8-1.4
วัว
0.3-0.8
0.3-0.5
0.2-0.5
ควาย
0.8-1.2
0.5-1.0
0.5-1.0
หมู
0.6-1.0
0.5-0.8
0.2-0.8
ค้างคาว
1.0-6.0
5.0-10.0
0.5-1.2
เป็ด
0.5-1.2
1.0-2.0
0.2-0.8
ม้า
0.5-1.0
0.3-0.7
0.2-0.7
 


    ตารางที่ 10.3 วัสดุปุ๋ยหมักและเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารต่อน้ำหนักแห้ง
 
วัสดุปุ๋ย
%N
%P2O5
%K2O
ฟางข้าว
1.0
0.6
0.9
ฟางข้าวผสมขี้วัว
1.8
0.5
0.5
ผักตบชวา
1.4
0.5
0.5
ผักตบชวาผสมขี้หมู
1.8
0.8
0.8
ตอซังข้าวผสมขี้วัว
2.0
2.0
1.0
หญ้าขนผสมขี้ไก่
2.0
2.5
1.5



    ตารางที่ 10.4 วัสดุปุ๋ยพืชสดและปริมาณธาตุอาหารต่อน้ำหนักแห้ง

วัสดุปุ๋ย
%N
%P2O5
%K2O
ต้นถั่วเขียวแก่
2.0-3.0
0.1-0.3
1.5-3.0
ต้นถั่วเขียวออกดอก
2.0-4.0
0.1-0.5
2.0-4.0
ต้นถั่วเหลืองแก่
2.0-4.0
0.1-0.5
1.0-3.0
ต้นถั่วเหลืองออกดอก
2.5-4.0
0.1-0.5
1.0-3.0
ต้นข้าวโพดแก่
0.2-0.5
0.1-0.2
1.0-3.0
ต้นข้าวโพดออกดอก
0.2-1.5
0.1-0.5
1.0-4.0
ฟางข้าว
0.4-1.5
0.1-0.5
1.0-2.5
ต้นข้าวออกดอก
0.4-1.5
0.1-0.5
1.5-3.0
 


หลักต่างๆ และไม่มีปุ๋ยที่มีสูตรอาหารต่างๆ จำหน่ายในท้องตลาด จำเป็นจะต้องผสมปุ๋ยขึ้นมาใช้โดยการนำแม่ปุ๋ย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และหรือวัสดุปุ๋ยอื่นมาผสมกันเพื่อให้ได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการ การผสมปุ๋ยขึ้นมาใช้จำเป็นจะต้องทราบข้อมูลที่สำคัญดังต่อไปนี้
    1) ต้องการจะได้สูตรปุ๋ยใดที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชจำนวนเท่าไร
    2) แม่ปุ๋ยที่จะใช้อยู่ในรูปใดเข้ากันได้ดีเพียงใด (รูปที่ 10.1)
    3) แม่ปุ๋ยแต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารอยู่เท่าใด
    4) เมื่อคิดคำนวณออกมาได้แล้วจะต้องผสมตัวเติมอะไรลงไปเท่าใด
 รูปที่ 10.1 ความเข้ากันได้ของแม่ปุ๋ยบางชนิดเมื่อนำมาผสมกัน


    ตัวอย่างการคิดคำนวณปุ๋ยผสม เช่น ต้องการปุ๋ยผสมเกรด 10-10-10 จำนวน 1 ตัน จะต้องใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21%N) ปุ๋ยทริพเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต (46%P2O5) และปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ (60%K2O) อย่างละเท่าไร และต้องเติมตัวเติมลงไปอีกเท่าไร สามารถคำนวณได้ดังนี้
    1) ต้องการเกรดปุ๋ย 10-10-10 ปริมาณ 1,000 กก.
    2) จะต้องมีธาตุอาหาร N P2O5 และ K2O อย่างละ 100 กก. ในปริมาณปุ๋ยผสม 1,000 กก.
    3) แม่ปุ๋ยที่ใช้ทั้ง 3 ชนิดเป็นปุ๋ยเดียวทั้งหมดคือ
            แอมโมเนียมซัลเฟต             (NH4)2SO4       21%N
            ทริพเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต        TSP                 46%P2O5
            โปแทสเซียมคลอไรด์            KCl                 60%K2O
    4) วิธีการคิดแบบเทียบบัญญัติไตรยางค์
            ต้องการธาตุอาหาร N 21 กก. ต้องใช้ (NH4)2SO4              100 กก.
                  N 100 กก.ต้องใช้ (NH4)2SO4                                                                    

                  ดังนั้นต้องใช้ (NH4)2SO4                   =                     476 กก.                                 (1)
                ต้องการธาตุอาหาร P2O5 46 กก. ต้องใช้ TSP                 100 กก.

                P2O5 100 กก.ต้องใช้ TSP                                                                   

                ดังนั้นต้องใช้ TSP                                     =                217 กก.                                  (2)

               ต้องการธาตุอาหาร K2O 60 กก. ต้องใช้ KCl                     100 กก.

                K2O 100 กก.ต้องใช้ KCl                                                      

               ดังนั้นต้องใช้ KCl                                         =              167 กก.                                  (3)

    5) ดังนั้นรวมน้ำหนักแม่ปุ๋ยทั้ง 3 ที่จะต้องใช้ เท่ากับ 860 กก. [ (1)+(2)+(3) ] และ จะต้องเติมตัวเติม เท่ากับ 140 กก. เพื่อให้น้ำหนักครบ 1,000 กก.
    การผสมปุ๋ยต้องดำเนินการในที่แห้ง เรียบและแข็ง เช่น ลานซิเมนต์ มีเครื่องมือผสมเช่น พลั่ว และปุ๋ยที่ผสมได้จะต้องไม่จับตัวเป็นก้อน แต่จะต้องร่วนและแห้ง ปุ๋ยผสมที่ได้ควรพอดีกับความต้องการใช้แต่ละครั้ง

10.5 หลักในการใช้ปุ๋ยกับพืช                                                 

    การใช้ปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีเพื่อการผลิตพืชจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พืชจะได้รับและปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม โดยมีหลักในการใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้
    1) พิจารณาถึงลักษณะดิน โดยเฉพาะเนื้อดิน โครงสร้างของดิน และความร่วนซุยของดิน เช่น ถ้าเป็นดินทรายควรแบ่งใส่ปุ๋ยทีละน้อย หลายๆ ครั้ง
    2) ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินจะต้องอยู่ในบริเวณที่รากพืชดูดไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปจะสังเกตจากบริเวณที่ปลายรากพืชกระจายอยู่หนาแน่น และมีน้ำทำละลายปุ๋ยเพียงพอ
    3) กำหนดวิธีการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะของการปลูกพืช เช่นพืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวมักใส่ขนานกับแถวของพืช หรือพืชยืนต้นทรงพุ่มต้นใหญ่จะต้องใส่รอบทรงพุ่มต้น
    4) ให้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืชทั้งช่วงเวลาและปริมาณที่พืชต้องการ
    5) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืชหรือเพื่อการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ ของดินก็ตาม ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยสมบูรณ์แล้วเพราะจะได้ฮิวมัสมาก



10.6 วิธีการใส่ปุ๋ย                                                                         
    การใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดนั้นจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับชนิดพืช การปลูก ลักษณะหรือคุณสมบัติของปุ๋ย ตลอดจนแรงงานและเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้
    1) การหว่าน (broad cast application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกไม่เป็นแถวเป็นแนว หรือพืชที่มีระบบรากแพร่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ปลูก เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หญ้าสนาม เป็นต้น การหว่านปุ๋ยควรหว่านให้กระจายไปทั่วอย่างสม่ำเสมอโดยแบ่งการหว่านออก 2 ครั้ง ครั้งแรกตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และครั้งที่ 2 ตามแนวทิศตะวันออก-ตก
    2) การโรยเป็นแถวขนานกับแถวของพืช (row or band application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้พืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว โดยการโรยปุ๋ยเป็นแถบในบริเวณที่รากพืชกระจายออกไปอยู่หนาแน่นที่สุด
    3) การใส่ปุ๋ยในหลุมที่ขุดเป็นจุด (hole application) เป็นวิธีการใส่ที่ลดการกระจายของปุ๋ยในพื้นที่ดินลง เช่น การใส่ปุ๋ยให้ยางพาราอายุ 3-4 ปีหลังจากปลูก
    4) การใส่ปุ๋ยลงไปตามร่องที่ไถ (plow-sow placement) ทำได้โดยการใช้ไถเปิดร่องนำไปก่อนแล้วโรยปุ๋ยตามลงไปในร่อง การใส่ปุ๋ยวิธีนี้จะลดการสูญหายของปุ๋ยจากการทำลายต่างๆ ลงได้มาก
    5) การฉีดพ่นปุ๋ยเหลวให้ทางใบ (foliar spray application) โดยการฉีดปุ๋ยเหลวให้กับพืช มักใช้กับพืชที่แสดงอาการขาดธาตุอาหารหรือต้องการเร่งการเจริญเติบโตแก่พืช
    6) การโรยปุ๋ยรอบทรงพุ่มต้นตามแนวพุ่มใบ (ring application) วิธีนี้มักใช้กับไม้ผลยืนต้นที่มีทรงพุ่มกว้างโดยจะให้ปุ๋ยตามแนวพุ่มใบซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีรากอ่อนอยู่มาก
    7) การหยอดปุ๋ยที่ซอกใบรอบโคนต้น เช่น การให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนกับสับปะรดที่ตำแหน่งซอกใบซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะ เนื้อเยื่อผิวใบค่อนข้างบางสามารถดูดซึมปุ๋ยเข้าไปได้ง่าย
    โดยทั่วไปการใส่ปุ๋ยจะคำนึงถึงระยะการเจริญเติบโตทาง0ลำต้น (vegetative growth) และระยะการออกดอกผล (reproductive growth) ในการใส่ปุ๋ยให้กับพืชจึงต้องคำนึงระยะการเจริญเติบโตของพืชว่าอยู่ในระยะใด แล้วจึงจะใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับระบบการเจริญเติบโตนั้นๆ โดยมีรายละเอียดของระยะเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้
    1) ใส่ก่อนปลูกโดยการใส่ปุ๋ยรองพื้น เช่นการหว่านปุ๋ยให้ทั่วพื้นที่แล้วไถคลุกเคล้ากับดินหรือใส่พร้อมหยอดเมล็ด เช่นการโรยก้นร่อง หากเป็นไม้ยืนต้นเช่นยางพารา ไม้ผลก็คือการใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม
    2) ใส่ระยะที่พืชเจริญเติบโตรวดเร็ว เป็นระยะที่เร่งการสร้าง ใบ ต้น กิ่ง แขนง
    3) ใส่ก่อนระยะออกดอก เพื่อให้พืชนำธาตุอาหารไปใช้ในการสร้างดอก ผล และเมล็ดได้อย่างสมบูรณ์
    4) ใส่เมื่อพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารใดๆ เมื่อปรากฏชัดเจนว่าพืชขาดธาตุอาหารก็รีบใส่ปุ๋ยที่ขาดนั้นลงไป ในดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบ


    ในปัจจุบันได้มีการผลิตและการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์กันในปริมาณมากและกว้างขวางทั่วไปมากกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากให้ผลในการเจริญเติบโตของพืชได้เร็ว มีจำหน่ายทั่วไปขนส่งและนำไปใช้ได้สะดวก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางประเภทติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือใช้อย่างขาดความรู้ รอบคอบจะทำให้คุณสมบัติบางประการของดินเสื่อมลงได้ เช่น ความพรุนของดิน ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน หรือทำให้ปฏิกริยาของดินเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ดังนั้นมีความจำเป็นที่ควรจะพิจารณาและได้นำเอาปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วทั่วไปในบริเวณที่ปลูกพืชมาใช้เพื่อการบำรุงดิน และควบคุมคุณสมบัติหลายประการของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชดังกล่าวแล้ว ดังนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยทั้ง 2 ประเภทคือปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ร่วมกันเพื่อปุ๋ยเคมีจะไปเร่งการเจริญเติบโตของพืชขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติจะไปลดความเสื่อมสภาพของดินบางประการอันเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชอย่างยั่งยืน

10.7 บรรณานุกรม                                                                     
ถนอม คลอดเพ็ง. 2528. ปฐพีศาสตร์พื้นฐาน. ภาควิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 257 หน้า.
ธนาคารกสิกรไทย. 2521. ปุ๋ย : เอกสารวิชาการธนาคารกสิกรไทยฉบับที่ 1. ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพมหานคร. 133 หน้า.
วรพจน์ รัมพฑีนิล. 2529. ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย. สำนักพิมพ์ยูไนเต็ดท์บุ๊คส์. กรุงเทพมหานคร. 216 หน้า.




การให้ปุ๋ยทางระบบชลประทาน



การใช้ปุ๋ยทางระบบชลประทาน (Fertigation)
       คำว่า Fertigation นั้นเป็นคำที่ได้จากการรวมคำเข้าด้วยกันคือ Fertilization ซึ่งแปลว่าการใส่ปุ๋ย กับคำว่า Irrigation แปลว่าการชลประทาน หรือการให้น้ำ ดังนั้นคำนี้จึงเป็นระบบการให้น้ำและปุ๋ยพร้อมๆ กัน คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาโดยมีการใช้ Anhydrous ammonia ในระบบการให้น้ำของพืช หลังจากนั้นก็ได้มีการใช้ปุ๋ยเคมีแบบอื่นๆ ในระบบการให้แบบพ่นฝอย (Sprinkler system) มีการนำไปใช้ในระบบน้ำหยด(Drip irrigation) ถ้าย้อนกลับไปในสมัยโรมัน (Roman times) ได้มีการให้ jute bage ที่มี NH4SO4 ใส่พร้อมกับการให้น้ำในกล้วยที่ปลูก ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีการนำปฏิบัติตามที่ Jordan Vallays ตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1930 สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศได้ใช้ ZnSO4 พร้อมกับระบบการให้น้ำแบบท่วมแปลง (Flood) หรือแบบร่อง (Furrow) โดยใช้วิธีการแบบง่าย ๆ โดยวางถุงปุ๋ยที่มีธาตุอาหารบริเวณทางน้ำเข้าแปลงแล้วปล่อยน้ำเข้าแปลง สำหรับการรายงานในลักษณะเชิงการค้าเป็นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1958
          Fertigation ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยถูกนำมาใช้ร่วมกับระบบการให้น้ำแบบพ่นฝอย(Sprinkler) และระบบน้ำหยด (Drip) โดยเฉพาะพวกพืชสวน (Horticulture) และพวกพืชมูลค่าสูงต่างๆนอกจากนี้ การที่ระบบการเกษตรที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ จึงทำให้ระบบการให้น้ำแบบหยดถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงระบบ Fertigation ก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นระบบการให้น้ำและปุ๋ยที่จัดได้ว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพแบบหนึ่งมีเปรียบเทียบกับแบบร่อง (Furrow) และแบบท่วมพื้นที่ (Flood)

ข้อดีสำหรับการใช้ปุ๋ยทางระบบชลประทาน (Advantages of fertigation)
     - ประหยัดแรงงานและเวลาในการใช้ปุ๋ยโดยใช้น้ำเป็นตัวพาปุ๋ยเข้าสู่ระบบรากพืช
     - ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย (Solvent) ละลายปุ๋ยให้อยู่ในรูปสารละลายที่พืชสามารถใช้ประโยชน์ได้
ทันที
     - เนื้อปุ๋ยสามารถแทรกซึมสัมผัสกับมวลดินได้มากกว่าการใช้ปุ๋ยชนิดของแข็งทางดินทำให้ธาตุ
อาหารพืชที่มีในปุ๋ยถูกเม็ดดินดูดยึดไว้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุอาหารในรูปประจุบวก เช่น NH4-N มีผลทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืชโดยกระบวนการต่างๆ น้อยลง เช่น การสูญเสียโดยกระบวนการชะล้างดิน (Leaching) และกระบวนการ Surface run off
     - การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มาก ทำให้ต้นทุนการใส่ต่อพื้นที่ต่ำกว่าการใส่ปุ๋ย
ทางใบ และทางดิน
     - สามารถใส่ปุ๋ยในเวลาที่พืชต้องการมากที่สุดได้ โดยไม่ต้องถึงฝนที่จะตกหรือไม่ตก ทำให้พืช
สามารถดูดใช้ปุ๋ยได้มากขึ้น และทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยได้น้อยลง เช่นการสูญเสียโดยกระบวนการ
Denitrification , Leaching และ Luxury consumption

ข้อจำกัด
     - การใส่ปุ๋ยทางชลประทานถ้าใช้ในอัตราต่ำ อาจทำให้มีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Surface fertigation หรือ Row fertigation ยกเว้น Sprinkler irrigation
     - ทำได้เฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการชลประทานหรือมีแหล่งน้ำใกล้เคียง จะมีปัญหาถ้าเป็นเกษตรที่
อาศัยน้ำฝน
     - ลงทุนในช่วยแรกค่อนข้างสูง ทั้งในเรื่องการปรับพื้นที่ การเตรียมแปลงปลูกพืช การติดตั้งอุปกรณ์
     - ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับปุ๋ยได้ทุกชนิดเหมือนกับการให้ทางดิน เช่นปุ๋ยสูตรต่ำ หรือปุ๋ยที่ละลายน้ำไม่ดี เช่น Rock phosphate

ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการใช้ร่วมกับการให้น้ำควรมีสมบัติดังนี้
1. เป็นปุ๋ยน้ำในรูปที่ละลายที่มีความเข้มข้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปุ๋ยสารละลายไนโตรเจน เช่น UAN
(Urea ammonium nitrate)
2. เป็นปุ๋ยชนิดของแข็งที่ละลายน้ำได้ดีและมีความเข้มข้นของธาตุอาหารสูง เพราะปริมาณธาตุ
อาหารที่พืชจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นกับปริมาณเนื้อธาตุอาหารพืชที่ละลายได้ในน้ำ ใช้ปุ๋ยในปริมาณน้อยกว่า ซึ่งทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ย เช่น ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา ดังนั้นจึงใช้ปุ๋ยสูตรสูงและละลายน้ำได้ดีโดยไม่มีตะกอน
3. องค์ประกอบของปุ๋ยเคมีต้องไม่มีสารหรือธาตุบางชนิดมากเกินไป เช่น Cl, Na เพราะการใช้ปุ๋ย
ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรากพืชมีการสะสมเกลือเหล่านี้มากเกินไป
4. คุณภาพของน้ำที่จะนำมาใช้ในระบบชลประทานก็มีความสำคัญ เพราะคุณภาพน้ำไม่มีอาจทำให้
เกิดการอุดตันของท่อหรือหัวฉีด

ลักษณะต่าง ๆ ของปุ๋ยที่ใช้ร่วมกับกับการให้น้ำ
1.เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารที่อยู่ในรูปที่พืชต้องการ หรือ พร้อมที่จะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่พืชต้องการได้
เช่น ยูเรียสามารถที่จะเปลี่ยนอยู่ในรูป NH4+ และ NO3 - ได้ทันทีเมื่อสภาพดินเหมาะสม และสำหรับพืชนั้นจะต้องพิจารณาชนิดของพืช และระยะการเจริญเติบโต
2.มีความสม่ำเสมอในการใช้ ในลักษณะการให้น้ำแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้แบบ Sprinkler,
furrow หรือFlooding จะต้องมีความสม่ำเสมอ
3.จะต้องไม่เป็นอันตราย เช่นไหม้ หรือแคระแกร็นกับพืช และไม่ทำให้ระบบท่อให้น้ำ จุดปล่อยน้ำ
และทางเข้าของปุ๋ยอุดตัน เมื่อพิจารณาลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ แล้วมีปุ๋ยมากมายสามารถที่ใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ขีดจำกัด 2 ข้อสุดท้ายเกิดปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นจึงมีการแนะนำว่าปุ๋ยที่ใช้ควรอยู่ในรูปสารของสารละลาย (Solution) หรือสารแขวนลอย (Suspension) ในระบบการให้ปุ๋ยแบบน้ำหยดมีการเน้นว่าจะใช้สารละลายปุ๋ยที่ใช้ควรมีการปนเปื้อนน้อยที่สุด


ความสามารถการละลายของปุ๋ยและการใช้ (Solubility of fertilizers and usage)

1. ปุ๋ย N เป็น ปุ๋ยที่ถูกนำมาให้ในระบบ Fertigation มากที่สุด เพราะว่าเป็นธาตุที่พืชต้องการมาก
โดยมีแหล่งสำหรับธาตุ N มากมาย เช่น ยูเรีย และ UAN (Urea and ammonium nitrate) ซึ่งบางครั้งปุ๋ยเหล่านี้อยู่ในรูปของแข็งที่ละลายน้ำได้ก็สามารถนำมาใช้ได้ สำหรับ Anhydrous ammonia หรือปุ๋ย N ที่อยู่ของ free NH3 ไม่ควรนำมาใช้ในระบบ Fertigation แบบ sprinkler

2. ปุ๋ย P จะ ได้มาจากสารละลายของ Phosphoric acid และ Ammonium phosphate นำมาใช้ใน
ระบบน้ำหยด แต่อย่างไรก็ตาม Ammonium phosphate ควรจะต้องมีความระมัดระวังเรื่องการตกตะกอน(Precipitation) ถ้าน้ำที่ใช้นั้นมีปริมาณ Ca หรือ Mg อยู่สูง

3.ปุ๋ย K จะได้มาจาก KCl เพราะว่าละลายน้ำได้ง่ายและมีราคาที่ถูก เพราะพิจารณาจากปริมาณ K
ต่อน้ำหนัก สำหรับอาจจะมีปัญหาในเรื่องการไหม้ของใบพืชเพราะว่าจะมีการเจือจาง (dilution) อันเนื่องจากระบบการให้น้ำ โดย KCl ที่ใช้นั้นจะใช้สารมีความบริสุทธิ์สูง นอกจากนี้ยังมี KNO3 ที่ให้ N และ K และ K2SO4 ที่ให้ K และ S แต่การละลายน้ำมีค่าต่ำกว่า KCl

4.ปุ๋ย S ได้จาก Ammonium thiosulfate, Ammonium sulfate ปุ๋ยเหล่านี้สามารถผสมร่วมกับ
UAN หรือปุ๋ยอื่น ๆ อีกหลายชนิดได้ นอกจากนี้อาจใช้ Magnesium sulfate ที่สามารถให้ Mg และ S

5.จุลธาตุ (micronutrient) เช่น Zn, Cu และ Mn (ที่อยู่ในรูปของเกลือ SO4 2- และ Cl-) เมื่อนำมาใช้อาจจะเกิดการอุดตันได้ ดังนั้นจึงใช้อยู่ในของ Chelates เช่น Fe หรือ Zn EDTA เพราะ Chelates นั้นสามารถละลายน้ำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำมีปัญหาการอุดตันมีน้อย จะเห็นได้ว่าสมบัติในการละลายของปุ๋ยที่อยู่ในรูปของแข็งเป็นสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาเพื่อนำไปใช้ในระบบ Fertigation ให้มีความเหมาะสม โดยปุ๋ยที่มีการใช้ทั่วไปนั้นมีความสามารถในการละลายได้แตกต่างกันไปตามชนิดของปุ๋ย (ตารางที่ 7)

       โดยทั่วไปความสามารถในการละลายได้ของปุ๋ยผสมที่นำปุ๋ย 2-3 ชนิดมาผสมกัน จะมีความสามารถในการละลายได้ลดลงแต่การละลายอาจเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สำหรับในการละลายของปุ๋ยบางชนิดเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน (อุณหภูมิของสารละลายลดลง (Endothermic)) เช่น ปุ๋ย N เกือบทุกชนิดเมื่อผสมกับน้ำจะดูดซับความร้อนมีผลทำให้ได้สารละลายที่มีอุณหภูมิเย็นลง และจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ขั้นตอนในการเตรียมสารละลายในถังเก็บสารละลายนั้นบางครั้งเกิดช้าลง สำหรับปุ๋ยบางชนิดเมื่อละลายน้ำแล้วจะเกิดปฏิกิริยาคลายความร้อน (Exothermic) ซึ่งในขั้นตอนการเตรียมสารละลายปุ๋ย บางครั้งจำเป็นต้องให้ความร้อนเพิ่มเข้าไปร่วมกับการจัดการแบบอื่นๆ เพื่อให้การผสมปุ๋ยเกิดขึ้นได้

ตัวอย่างการละลายของปุ๋ยชนิดต่างๆ
      - ปุ๋ย Ca(NO3)2.4H2O นั้นจะเห็นมีความสามารถในการละลายน้ำได้ค่อนข้างดี แต่ในแง่การปฏิบัติ
แล้ว เมื่อละลายน้ำจะเกิดปฏิกิริยาดูดความร้อนและสามารถละลายได้เพียง 50% เท่านั้นที่อุณหภูมิ 30 °Cและผลก็คือทำให้อุณหภูมิของสารละลายลดลง 2 °C ในขณะที่ถังผสมปุ๋ย (Mixing tank) จะอยู่กลางแจ้งด้วยดังนั้นความเข้มข้นของสารละลายจะถูกทำให้ลดลงเมื่อถูกปล่อยสู่ท่อและส่งต่อไปให้พืช เพราะเกิดการตกตะกอนค้างอยู่ในถังผสมโดยเฉพาะถ้ามีการผสมและ/หรืออาจมีการใช้ในช่วงเวลาการกลางคืนที่อากาศหนาวเย็น

     - ปุ๋ย Urea (CO (NH2)2), Ammonium nitrate (NH4NO3), Calcium nitrate (Ca (NO3)2.4H2O),
Potassium nitrate (KNO3) จัดได้ว่าเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดี และถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อใช้เตรียมปุ๋ยที่มีทั้ง
ธาตุเดียว (single-nutrient) และหลายธาตุ (Multi-nutrients)

     - Monoammonium phosphate, Phosphoric acid เป็นปุ๋ยที่ละลายได้เช่นกัน แต่จะมีปัญหาเรื่อง
การตกตะกอนถ้าใช้น้ำที่มี CaCO3 และ MgCO3 อยู่สูง (หรือที่เรียกว่า น้ำกระด้าง (Hard water)

      - ปุ๋ย K ทุกชนิดนั้นจัดได้ว่าละลายน้ำได้ดีแต่การละลายของปุ๋ยชนิดนี้จะมีปัญหาเรื่องการละลายนั้น
จะไว (Sensitive) ต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

การผสมกันของปุ๋ย (Compatibility of fertilizers)
      จากการผสมปุ๋ยเข้าด้วยกันอาจจะทำให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารที่มีต่อพืชนั้นลดลง การ
ผสมปุ๋ยสองชนิดเข้าด้วยจะมีปัญหาการจับตัวกันเป็นก้อน เช่น การผสมของปุ๋ยที่มีเกลือของ Ca ผสมเข้ากับเกลือของ Phosphate หรือ Sulfate ทำให้มีโอกาสเกิดการจับตัวเป็นก้อนของ CaSO4 จากรูปที่ 1 ปุ๋ยชนิดต่างๆสามารถผสมกันได้ (Compatible,C) หรือผสมกันอาจจะต้องใช้ทันทีเพราะอาจเกิดปัญหาการจับตัวกันเป็นก้อน (Limited compatibility,LC) หรือไม่สามารถผสมกันได้เลย ( Not compatible,NC ) สามารถพิจารณาได้จากภาพที่ 4

       สำหรับ pH ของสารละลายปุ๋ย (Irrigation solution ) ควรอยู่ในช่วง 5.0-7.0 ถ้า pH สูงเกินไปจะทำให้ความเป็นประโยชน์ธาตุอาหารพืชบางชนิดลดลง เช่น P, Zn และ Fe โดยอาจจะเกิดการตกตะกอนอยู่ในรูปCa, Mg phosphate หรือ Ca, Mg carbonate ในระบบท่อส่งน้ำได้ แต่ถ้า pH ต่ำเกินไปจะทำให้รากพืชชะงักและยังเพิ่ม Al และMnในสารละลายดิน แต่ถ้าต้องการลด pH ในสารละลายปุ๋ยที่เตรียมในกรณีที่มีค่าสูงเกินไปอาจจำเป็นต้องปรับ pH ให้ลดลง ซึ่งทำได้โดยใช้กรดไนตริก (HNO3) หรือกรดฟอสฟอริก (H3PO4) นอกจากนี้แล้ว สำหรับในระบบ Fertigation นั้น การใช้กรดทั้งสองชนิดนี้จะเกิดผลดี คือ กรดสามารถช่วยละลายตะกอนต่างๆ ที่ค้างอยู่ในท่อและยังเป็นแหล่งธาตุอาหารที่จำเป็นได้แก่ NO3- และ H2PO4- ด้วย

การเจริญเติบโตของรากในระบบการให้ปุ๋ยแบบ Fertification (Root growth in fertigation system)      
       ในการเจริญเติบโตของพืชที่เหมาะสม อาณาบริเวณรากพืชจะต้องได้รับน้ำ ธาตุอาหาร และอากาศที่เหมาะสม โดยค่าศักย์ของน้ำในดิน (Water potential) ที่ได้รับจากการชลประทานทำให้เกิดจะมีค่าแรงเครียดของน้ำต่ำ (Low water tension) เช่น ดินเหนียว และจากผลดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการสภาพที่มีขาดออกซิเจน

ปริมาณออกซิเจน (Oxygen, O2)  
       รากพืชสามารถตอบสนองในเวลาสั้น (อาจจะเป็นนาที) หลังเกิดสภาพการขาดออกซิเจนโดยรากพืชจะชะงักการยืดตัว (Elongation) เช่นรากของฝ้าย (Cotton) ในบริเวณรากพืชมีการยืดตัวนั้น ถ้ารากพืชขาดออกซิเจนเพียง 30 นาทีรากพืชบริเวณนั้นจะตาย เช่นการให้น้ำระบบน้ำหยดนั้นดินจะอยู่ในสภาพอิ่มตัว(Saturation) เพียงบริเวณที่หยดน้ำออกจากท่อสู่ต้นพืช ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกทำให้เปือก (Wetted) แต่ไม่อิ่มตัว ถ้าเกิดสภาพแบบนี้แล้ว ซึ่งถ้าหัวปล่อยน้ำออกมีอัตราการไหลของเร็วหรือสูงกว่าเกิน (มากกว่า1 ลิตรต่อชั่วโมงสำหรับในดินเหนียว) จะทำให้ดินมีสภาพขาดออกซิเจนได้ ถ้ายังมีการให้น้ำในอัตราที่สูง ดังนั้นการปรับอัตราการไหลให้ช้าลงก็สามารถที่รักษาระดับออกซิเจนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

ธาตุอาหารต่างๆ (Nutrient)
        อัตราส่วนของ NO3-/NH4+ ในดินถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบของรากพืช ในสภาพที่ดินมีความเข้มข้น NH4+ ที่สูงโดยเฉพาะในบริเวณที่รากพืชมีอุณหภูมิที่สูง จะทำให้รากพืชเกิดการเสื่อมสภาพ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาการของรากพืช ในสภาพที่อุณหภูมิดินสูงนั้นพืชมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มเติม (Additionalsugar) สำหรับกระบวนการหายใจและสำหรับกระบวนการเมตาลิซึมของ NH4+ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย แต่การจัดส่งน้ำตาลมาจากใบพืชนั้นเพื่อนำมาใช้กระบวนการดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ช้าลง หลังจากระบวนการหายใจของพืชและกระบวนการเมตาโบลิซึมได้ใช้น้ำตาลไปก่อนในช่วงแรกๆ ซึ่ง ณ ช่วงเวลานี้จะเกิดภาวะของการมีปริมาณของ NH3 ที่มากเกินไปในบริเวณรากพืช และทำให้พืชตาย ในขณะเดียวกันกระบวนการ Nitratereduction จะเกิดขึ้นที่ใบพืช ซึ่งเป็นที่จัดส่งน้ำตาลให้กับกระบวนการไนโตรเจนเมตาโบลิซึมบริเวณใกล้เคียงดังนั้นในสภาพอุณหภูมิรากพืชสูงนั้น N-NO3- ถือว่าเป็นรูปที่ปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างการปลูกแบบไร้ดิน(Soilless cultures)สำหรับในสภาพอุณหภูมิบริเวณรากพืชต่ำนั้นจะมีการสะสม N-NO3- อยู่ในรากพืช มีส่วนน้อยเท่านั้น ที่เคลื่อนที่ไปที่ส่วนต้น จึงทำให้พืชมีอาการขาด N (N deficiency) ดังนั้นความเข้มข้นของ สารละลาย และรูปของธาตุอาหารที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับระบบ Fertigation นำมาใช้กับพืชที่ต้องการการดูแลอย่างดีนั้นน่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อน

คำแนะนำในการจัดการให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ
1. ให้ปุ๋ยทุกครั้งที่มีการให้น้ำเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ความเข้มข้นสูง ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับพืชได้
2. ฤดูฝนให้ความเข้มข้นสูงกว่าฤดูแล้ง เนื่องจากฝนมาก ความถี่ในการให้น้ำห่าง โอกาสที่จะให้ปุ๋ยมีน้อยและน้ำฝนจะเจือจางปุ๋ยที่เข้มข้นลง ขณะเดียวกันต้องเผื่อสำหรับการชะล้างไว้ด้วย ส่วนฤดูแล้งให้ความเข้มข้นต่ำเพราะต้องให้น้ำบ่อยครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยความเข้มข้นสูง
3. จังหวะของการจ่ายปุ๋ยเข้าในระบบการในการให้น้ำ สามารถให้ได้หลายวิธี
      1) ให้น้ำไปก่อนส่วนหนึ่งแล้วค่อยให้ปุ๋ยแล้วจึงให้น้ำตาม ซึ่งเมื่อรวมปริมาณน้ำทั้ง 3 ช่วงแล้วพอดีกับความต้องการของพืช และอยู่ในเขตหากินของรากพืช วิธีนี้สารละลายธาตุจะอยู่บริเวณกลางความลึกของรากพืชหากินของพืช
      2) เริ่มให้สารละลายปุ๋ยตั้งแต่เริ่มต้นการให้น้ำ และสิ้นสุดการให้ปุ๋ยก่อนการสิ้นสุดการให้น้ำ เมื่อ
สิ้นสุดการให้น้ำ ปริมาณน้ำที่ให้จะเพียงพอกับความต้องการของพืช และอยู่ไม่ลึกเลยเขตรากพืชหากินของพืชวิธีนี้สารละลายธาตุอาหารจะไปอยู่ส่วนล่างของเขตรากพืชหากิน
      3) ให้น้ำก่อนจนเกือบจะเต็มเขตรากหากินพืชแล้วจึงให้สารละลายปุ๋ยเป็นการปิดท้ายวิธีนี้สารละลายธาตุอาหารจะอยู่ส่วนบนสุด ตั้งแต่ผิวดินลงมา ซึ่งเป็นเขตรากที่มีรากหากินหนาแน่นที่สุด พืชสามารถเอาไปใช้ได้มากที่สุด
       4) เมื่อสิ้นสุดการให้น้ำแต่ละครั้งจะต้องไม่มีสารละลายธาตุหลงเหลืออยู่ในท่อแขนงเพื่อป้องกันไม่ให้ชอนไชเข้าไปหากิน และแพร่ขยายภายในท่อทำให้ท่อแขนงอุดตันได้ และการใช้งานจริงอาจจะต้องใช้ทั้ง 3 วิธีข้างต้น

รูปแบบของอุปกรณ์ฉีดให้ปุ๋ย
      1) แบบเวนจูรี่ (Venturi)
เป็นอุปกรณ์ที่ราคาถูกที่สุด ตัวอุปกรณ์ทำจากพลาสติกเป็นชิ้นเดียวโดยไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว
การสึกหรอจึงต่ำ หลักการทำงานโดยอาศัยความแตกต่างของแรงดันน้ำระหว่างทางเข้ากับทางออกก่อให้เกิดสภาวะสุญญากาศ (รูปที่2) ณ จุดดูดทำให้ปุ๋ยถูกดูดขึ้นมาจากถังเข้าไปในระบบให้น้ำแรงดันใช้งาน3.5-70 เมตร อัตรา การฉีดปุ๋ย 22.7-4,275 ลิตร / ชม มีประสิทธิภาพ 16-67%
เนื่องจากอาศัยความต่างของแรงดันในระบบให้น้ำ ความสม่ำเสมอในการฉีดปุ๋ยจึงไม่สม่ำเสมอ
ทั้งนี้เพราะแรงดันในระบบให้นำไม่คงที่ตลอดเวลาเวลาทำให้การควบคุมในการทงานทำได้ยาก


     2) แบบปั๊มพลังน้ำ

        หลักการทำงานของอุปกรณ์แบบนี้ คือ การใช้แรงดันน้ำของระบบให้น้ำเป็นต้นกำลังในการ
ขับเคลื่อนปั๊ม ซึ่งมีอยู่หลายแบบ เช่น
        1.ปั๊มไดอะแฟรม (Diaphragement pump)
        2.ปั๊มสูบชัก
        3.ปั๊มแบบไฮดรอลิก

      ภาพที่ 6 แสดงโครงสร้างสำหรับการฉีดสารละลายปุ๋ยเข้าสู่ท่อของระบบการให้น้ำ โดยมีส่วนประกอบหลักดังนี้
      1. Check value เป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันไม่ให้น้ำในท่อส่วนจะไปรวมกับปุ๋ยย้อนกลับไหลลงบ่อหรือ
แหล่งน้ำ
      2. Vacuum relief valve เป็น อุปกรณ์ป้องกันรักษาปั๊มแรงดัน
      3. Soleniod – operated valve ติดอยู่ บริเวณภายในปั๊มสำหรับฉีดสารละลายปุ๋ย เพื่อป้องกันการ
ไหลของปุ๋ยระหว่างที่มีการปิดระบบการส่งน้ำ โดยปกติวาล์วนี้จะปิด
      4. Quick-closing check valve เป็นอุปกรณ์ที่ป้องการไหลของน้ำหรือสารละลายไหลย้อนกลับลงสู่ถังสารผสมปุ๋ย
      5. Electrical interlock ของระบบฉีดสารละลายปุ๋ย เป็นอุปกรณ์ที่เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าปั๊มของ
สารละลายจะปิดเมื่อปั๊มของระบบน้ำเปิด
     6. Low pressure drain valve วาล์ว ที่จะใช้ปล่อยน้ำออกในท่อที่อยู่ระหว่าง Check valve กับบ่อ
เก็บน้ำ

การเลือกจุดติดตั้ง
       1. จุดที่หัวแปลง เหมาะสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็ก ราคาต่อหน่วยจะถูก แต่ต้องใช้หลายจุดจึงจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้ ซึ่งเมื่อรวมแล้ว อาจจะมีราคาแพงกว่าการติดตั้งชุดใหญ่เพียงชุดเดียวจึงไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ นอกจากว่าพื้นที่ดังกล่าวแบ่งออกเป็นแปลงย่อย และแต่ละแปลงมีความต้องการจำเพาะของแต่ละแปลง ซึ่งจะได้ความละเอียดและปริมาณปุ๋ยที่ใกล้เคียงกันทั่วทั้งแปลง การติดตั้งจุดนี้มีข้อดีคือสามารถทำเป็นชุดเคลื่อนย้ายได้ แต่มีข้อเสียในการที่ต้องขนย้ายปุ๋ยไปยังจุดต่างๆ ซึ่งอาจไม่สะดวกโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ถ้าจะนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้จะทำได้ยาก
      2. ที่ทางแยกของท่อย่อย (Sub-main) ส่วนใหญ่ใช้กับแปลงพืชไร่ขนาดใหญ่ หรือสวนผลไม้ที่ให้ท่อย่อยโดยไม่มีชุดควบคุมเฮด (Head control)
      3. ที่จุดศูนย์กลาง เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ปลูกพืชชนิดเดียว การติดตั้งอุปกรณ์ฉีดปุ๋ยขนาดใหญ่เพียงชุดเดียว จะสามารถจ่ายปุ๋ยให้ได้กับทุกแปลงเป็นการประหยัดแรงงาน สะดวก และมี
ประสิทธิภาพสูงกว่าการให้ปุ๋ยแบบปกติ นอกจากนี้ยงสามารถนำระบบอัตโนมัติเข้ามาควบคุมได้ง่ายแต่มีราคาค่อนข้างแพง และขาดความละเอียด (ดิเรกและคณะ, 2542)

ข้อควรระวังในการติดตั้ง
ควรติดตั้งอุปกรณ์ฉีดปุ๋ยไว้หลังมาตรวัดปริมาตร และอยู่หน้ากอง เพื่อให้สามารถทราบได้ว่าปริมาณ
น้ำที่ผ่านเข้าไปมีปริมาตรเท่าไร และกรองจะทำหน้าที่ดักปุ๋ยหรือตะกอนที่อยู่ในสารละลายปุ๋ยไม่ให้เข้าไปทำให้หัวกระจายอุดตัน และควรติดตั้งวาล์วทางเดียว ป้องกันสารละลายปุ๋ยไหลกลับ เข้าไปในระบบให้น้ำที่จะไปยังแปลงอื่นหรือกลับสู่แหล่งน้ำ เพราะนอกจากเป็นการสูญเปล่าของปุ๋ยแล้วยังปนเปื้อนในแหล่งน้ำหรือช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสาหร่ายในแหล่งน้ำ

ประเภทของการให้ปุ๋ยแบบ fertigation
    1. ระบบการให้น้ำบนผิวดิน (Surface irrigation ) ได้แก่
           - ระบบปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นที่ (Flooding irrigation)
           - ระบบให้น้ำไหลตามร่องระหว่างแถวปลูก (Furrow irrigation)
           - ระบบน้ำหยด (Drip irrigation)
แบบที่ 1 และ 2 สะดวกในการปฏิบัติ เสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่การกระจายของเนื้อปุ๋ยอาจจะมีความ
สม่ำเสมอไม่ดี ส่วนแบบที่ 3 ใช้ในระยะยาวที่ดี เหมาะสำรับพืชที่ราคาแพง
        - ระบบน้ำหยด (Drip irrigation)
ระบบน้ำหยดจัดได้ว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการให้น้ำและปุ๋ยร่วมกัน เพราะว่า
ปริมาตรของดินที่รากปรากฏในสภาพเปียก (Wetted zone) นั้นเป็นบริเวณที่รากสามารถดูดใช้น้ำและธาตุอาหารได้ (ภาพที่ 4 ) โดยจะได้น้ำ และธาตุอาหารผ่านหัวหยด (Dripper) ซึ่งข้อดีก็ คือ จะใช้น้ำปริมาณน้อยอาจประหยัดน้ำได้ถึง 90- 95% เมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำแบบท่วมพื้นที่( Flooding) และจากการที่มีปริมาตรดินที่รากปรากฏในบริเวณเปียก (Wetted zone) นั้น จึงเป็นการจำกัดพื้นที่ที่ทำให้เกิดวัชพืช เพราะจะมีส่วนแย่งใช้น้ำและธาตุอาหารของพืชหลัก นอกจากนี้เป็นการหลีกเลี่ยงในการทำลายโครงสร้างดิน (Soilstructure)บริเวณผิวดินอีกด้วย และยังเป็นการลดโอกาสในการแพร่กระจายความเค็ม เมื่อเปรียบเทียบจากระบบการให้น้ำแบบอื่นๆ เช่น การให้น้ำแบบท่วมพื้นที่

        -ระบบการให้น้ำแบบพ่นฝอย (Sprinkler irrigation)
         ระบบการให้น้ำแบบพ่นฝอยนี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีระบบแบบติดอยู่กับพื้นที่ (Fixed)
และแบบที่เคลื่อนย้ายได้ (Portable) ซึ่งแบบหลังนี้การใช้นั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศด้วย จากการที่มีการใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ Flooding และ ระบบ furrow แต่อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่สูญเสียจากการระเหย (Evaporation) ก็มีสูงด้วย และอาจจะมีปัญหาในเรื่องปริมาณน้ำที่พืชจะได้รับในบริเวณที่มีลมแรง สำหรับประสิทธิภาพการใช้น้ำนั้นมีระหว่าง 70-80% สำหรับการให้ปุ๋ย P ไปพร้อมกับระบบการให้น้ำ โดยใช้ระบบนี้จะไม่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าการเกิดการตรึงโดยดินมีสูงอยู่แล้ว ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนของ P ในดินมีต่ำและอาจทำให้พืชได้รับ P ไม่เพียงพอ

คุณภาพของน้ำที่ใช้
        คุณภาพของน้ำจัดได้ว่าเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จของการให้ปุ๋ยแบบ Fertigation เลยทีเดียว โดยคุณภาพของน้ำที่ใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับระบบการให้ปุ๋ยแบบต่างๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
        - ระบบการให้ปุ๋ยแบบน้ำหยดนั้นจำเป็นต้องการน้ำที่คุณภาพที่สูง โดยจะปราศจากสิ่งแขวนลอยที่
เป็นของแข็งและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กต่างๆ เพราะสิ่งต่างเหล่านี้จะทำให้เกิดการอุดตันของระบบท่อขึ้นได้ การแก้ปัญหาอย่างหนึ่งอาจจะทำได้เมื่อเกิดปัญหาการอุดตันคือเพิ่มขนาดของรู (Orifice) ที่เป็นทางออกของสารละลายปุ๋ยให้เพิ่มขึ้น สำหรับการให้แบบพ่นฝอยนั้นอาจจะเกิดปัญหาเรื่องนี้ไม่บ่อย
        - การตกตะกอนของปุ๋ยภายในระบบท่อ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่รุนแรงในอนาคต สาเหตุของปัญหานี้อย่างหนึ่งคือระดับของ Ca2+ ในน้ำสูงเกินกว่า 100 ppm อาจจะทำให้เกิดการตกตะกอนร่วมกับ P ในบริเวณผนังท่อสายส่งหรือรูที่ทางออกของสารละลายปุ๋ย
       - ในบางพื้นที่ปริมาณโบรอน (B) ในน้ำอาจมีค่าสูงจนเป็นปัญหากับพืชได้ โดยเฉพาะพืชบางชนิด
อาจจะมีอาการเป็นพิษได้เพราะ ทนได้ B เพียง 1 ppm เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
ดิเรก ทองอร่าม, วิทยา ตั้งก่อสกุล, นาวี จิระชีวี และอิทธิสุนทร นันทกิจ. 2542. การออกแบบและเทคโนโลยีการให้น้ำแก่พืช.เจริญรัฐการพิมพ์ กรุงเทพ. 423 หน้า.

ธงชัย มาลา. 2546. ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ: เทคนิคการผลิต และการใช้ประโยชน์. สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.

ปิยะ ดวงพัตรา. 2538. หลักการและวิธีการใช้ปุ๋ยเคมี. ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.300หน้า.

สันติภาพ ปัญจพรรค์.2527. วิทยาการทางปุ๋ย. ภาควิชาปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์.
มหาวิทยาลัยขอนแก่น.265 หน้า.

ยงยุทธ โอสถสภา อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ และชวลิต ฮงประยูร. 2551. ปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน.
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน .
519 หน้า.
Bukovac J.M, Cooper J.A, Whitmoyer RE, and Brazee RD (2002) Spray application plays a
determinant role in performance of systemic compounds applied to foliage of fruit plants.
Acta Horticulturae 594: 65–75.

EI-Fouly, M.M., Fawzi, A.F. and EI-Sayed, A. (1995). Optimiing fertilizer use in oranges through
fertigtion. International Symposium on Fertigation, Technion. Haifa, Israel.




ปุ๋ยมันสำปะหลัง

การใช้ปุ๋ย
พื้นที่ดินดอนที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ดินที่มีความอุดม
สมบูรณ์ต่ำ ทั้งนี้เพราะมีธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุในดินต่ำและมีผลทำให้ผลผลิตมัน
สำปะหลังต่ำไปด้วย ถ้าไม่มีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีหรือใช้
ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีร่วมกันกับ มันสำปะหลังแบบฤดูปลูกต่อฤดูปลูก โดยทั่ว ๆ ไปอาจกล่าว
หรือแนะนำได้เลยว่า ถ้าจะต้องการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นกว่าเดิม จำเป็นต้องมีการ
ใช้ปุ๋ยกับดินทุกชนิดที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ส่วนจะใช้อย่างไรจึงจะเกิดผลดีมาก
ที่สุด หรือได้ผลตอบแทนในรูปของเงินกำไรจากการขายหัวมันสำปะหลังมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่
กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มากมาย เช่น ขึ้นกับสมบัติของดิน สภาพฝนฟ้าอากาศ ต้นทุนการผลิต
ต่าง ๆ เป็นต้น
ในการพิจารณาว่าการให้ปุ๋ยต่อพืช ควรให้ความสำคัญแก่ธาตุอาหารหลัก อันได้แก่
ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปรแตสเซียม (K) จากนั้นก็มีธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม (Ca)
แมกนีเซียม (Mg) ซัลเฟอร์ (S) เป็นต้น และธาตุอาหารเสริม เช่น สังกะสี (Z) เหล็ก (Fe)
และมังกะนีส (Mn) ธาตุอาหารเหล่านี้ มีความสำคัญต่อการผลิตหัวมันสำปะหลังแตกต่างกันไป
ดังนั้น ก่อนปลูกควรวิเคราะห์ดินเสียก่อนว่ามีแร่ธาตุอะไรบ้าง ขาดแร่ธาตุอะไร มากน้อยเท่าไร
เพื่อจะได้ใส่แร่ธาตุที่ขาดให้พอเพียงต่อการปลูกและการสร้างหัวมันในภายหลัง


ประเภทของปุ๋ยที่ใช้ในการผลิตพืช
ก. ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ

1) ปุ๋ยคอก
ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยที่ได้จากมูลและปัสสาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในคอกหรือในที่จำกัด
ปุ๋ยคอกที่นิยมใช้ในการเกษตรโดยทั่วไป ได้แก่ ปุ๋ยมูลวัว มูลควาย มูลสุกร มูลไก่ มูลเป็ด และปุ๋ยมูล
ค้างคาว

2) ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่ได้จากการหมักเพื่อให้เกิดการสลายตัวของเศษซากพืช แล้วแปร
สภาพเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยกิจกรรมของ
จุลินทรีย์ ปุ๋ยหมักโดยทั่ว ๆ ไปจะมีปริมาณธาตุอาหารหลักในรูป N P และ K ต่ำมากเมื่อเทียบกับ
ปุ๋ยเคมี และโดยเฉลี่ยจะมีปริมาณธาตุอาหารหลักต่ำกว่าปุ๋ยคอก

3) ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทที่ได้จากการปลูกพืชตระกูลถั่วลงไปในแปลง
ปลูก และเมื่อพืชดังกล่าวได้เจริญเติบโตมาได้ระยะหนึ่งจนถึงระยะที่เหมาะสมแล้ว เช่น ที่ระยะที่
พืชกำลังออกดอก จึงทำการไถกลบเพื่อปล่อยให้เศษพืชเกิดการย่อยสลายก่อนการปลูกพืชที่ต้องการ
ต่อไป

4) ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยที่ได้จากการใช้สิ่งที่มีชีวิตในรูปของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราบาง
ประเภท สาหร่ายและอื่น ๆ เช่น เชื้อไรโซเบียม สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน แหนแดง เพื่อช่วยใน
การตรึง สังเคราะห์ หรือดูดใช้ธาตุอาหารพืชในดินแล้วส่งให้กับพืชปลูกในลักษณะที่เป็นอิสระต่อ
กัน หรือเพื่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน ปุ๋ยชีวภาพบางประเภทอาจอยู่ในรูปของเหลวที่ได้จาก
การหมักสารอินทรีย์และสารตัวเสริม (additives) ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยชีวภาพในรูปที่นิยมเรียกในชื่อใหม่
ว่า “ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ” หรือ “น้ำสกัดชีวภาพ” หรือ “น้ำหมักชีวภาพ” ที่ได้จากการหมักเศษพืชหรือ

สัตว์ทั้งในสภาพที่มีหรือไม่มีอากาศ (ออกซิเจน) เพื่อให้เกิดสารสลายตัวโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์
โดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ ลักษณะของตัวปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักชีวภาพ
จะมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ที่ประกอบไปด้วยธาตุอาหารพืชหลายชนิดสารประกอบพวกคาร์
โบไฮเดรท โปรตีน กรดอะมิโน ฮอร์โมน เอ็นไซม์ และสารอื่น ๆ

ข. ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยเคมีอาจจำแนกประเภทตามจำนวนธาตุอาหารหลัก N P K ได้ดังนี้
1) ปุ๋ยเดี่ยว
ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยเดี่ยว คือ ปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ย N P หรือ K ชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงชนิด
เดียว ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยเดี่ยวที่สำคัญและนิยมใช้กันโดยทั่วไป ได้แก่ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยยูเรีย
ปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์หรือเรียกสั้น ๆ ว่าปุ๋ยม๊อป (MOP)
สำหรับการปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยผสม
มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยเดี่ยว

2) ปุ๋ยผสม
ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยผสมอาจจำแนกประเภทตามกรรมวิธีการผลิตได้ดังนี้
(1) ปุ๋ยเม็ดที่ผลิตโดยการปั้นเม็ด
ปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป อยู่ในรูปปุ๋ยเม็ดที่ผลิตโดยขบวนการ
ปั้นเม็ดโดยใช้จานปั้นเม็ดหรือท่อปั้นเม็ด เม็ดปุ๋ยผสมประเภทนี้แต่ละเม็ดจะมีแม่ปุ๋ยทุกชนิดที่ใช้
ผสมอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้สะดวกต่อการใช้โดยไม่เกิดการแยกตัวหรือแยกส่วนของแม่ปุ๋ยแต่ละ
ชนิดเหมือนปุ๋ยผสมประเภทผสมเองหรือที่เรียกว่าปุ๋ยผสมแบบคลุกเคล้า (Bulk blending fertilizer)
ซึ่งมักจะเกิดปัญหาการแยกตัวในภาชนะบรรจุของแม่ปุ๋ยแต่ละชนิด ทำให้เมื่อนำไปใส่ให้กับพืช
พืชอาจได้รับธาตุอาหารพืชหลักแต่ละชนิดไม่สม่ำเสมอครบถ้วนตามสัดส่วนที่มีในสูตรปุ๋ยดังกล่าว
ปุ๋ยเม็ดที่ผลิตโดยขบวนการปั้นเม็ดหรือที่เรียกว่า “ปุ๋ยเม็ดสำเร็จรูป” หรือ “ปุ๋ยเม็ดแบบมีเนื้อ
เดียวกัน” มีการผลิตออกมาจำหน่ายมากมายหลายสูตร และที่นิยมใช้หรือแนะนำให้ใช้กับมัน
สำปะหลังได้แก่ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15, 15-7-18, 16-8-14, 22-11-22 และสูตร 13-13-21

(2) ปุ๋ยเม็ดประเภทที่ใช้แม่ปุ๋ยเม็ดผสมเอง
ปุ๋ยเม็ดประเภทที่ใช้แม่ปุ๋ยเม็ดชนิดต่าง ๆ ผสมกันแบบคลุกเคล้าเพื่อให้ได้ปุ๋ยผสม
สูตรต่าง ๆ โดยที่ในส่วนผสมเม็ดแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดจะผสมปะปนกันแบบไม่เป็นเนื้อเดียวกันหรือที่
นิยม เรียกชื่อว่า “ปุ๋ยผสมแห้งแบบคลุกเคล้า” (Bulk blending fertilizer) ซึ่งในการผลิตปุ๋ยประเภทนี้
นั้นโดยปกติเป็นการผลิตในโรงงานปุ๋ยแล้วบรรจุกระสอบจำหน่าย หรือเกษตรกรอาจซื้อแม่ปุ๋ยชนิด
ต่างๆ มาผสมเองเพื่อให้ได้สูตรปุ๋ยตามที่ต้องการก็ได้เช่นกัน
9.2 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปุ๋ยอินทรีย์ที่นิยมใช้ในการผลิตพืชโดยทั่ว ๆ ไป ได้แก่ มูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และ
ปุ๋ยพืชสด และนอกจากนั้นก็ยังอาจรวมถึงผลพลอยได้ในรูปของสารอินทรีย์จากองค์ประกอบของ
ผลผลิตพืชและผลพลอยได้จากการแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการใช้ผล
พลอยได้ในรูปดังกล่าวข้างต้นในปริมาณมากเพียงพอที่จะให้ธาตุอาหารแก่พืชได้ในปริมาณมาก
เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีบางส่วนหรือทั้งหมดนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อ
ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำนั้น ใน
ปัจจุบันมีการดำเนินการวิจัย โดยทั่วไป ว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีผลต่อการเพิ่ม
ผลผลิตของมันสำปะหลังอย่างเด่นชัดและคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีการนำปุ๋ยน้ำสกัดจากมูลสุกร
ฉีดทางใบ เพื่อให้แร่ธาตุอาหารต่อมันสำปะหลัง แล้วนำผลผลิตที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับ
เทคนิคอื่น

1) ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก
ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก ซึ่งหมายถึงมูลสัตว์ที่ได้จากสัตว์ที่เลี้ยงในคอกหรืออยู่
ในที่จำกัด เช่นวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ม้า ค้างคาวเป็นต้น นี้ถ้าใช้ปุ๋ยดังกล่าวในปริมาณมากพอสมควร
มักให้ผลดีค่อนข้างเด่นชัดต่อการปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้น และยังมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอย่างเด่นชัดด้วยปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ที่นิยมใช้กับมันสำปะหลังโดยทั่ว ๆ ไป
ได้แก่ มูลสุกร มูลวัว มูลควาย และมูลไก่ ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันมีการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้โดยเฉพาะหมู วัว และไก่ ในเชิงเศรษฐกิจในรูปของฟาร์มขนาดใหญ่ทำให้มีผลพลอยได้ในรูปมูลสัตว์ประเภทนี้ในปริมาณมาก และมีอย่างสม่ำเสมอด้วย ทำให้เกษตรกรนิยมใช้กันมาก
ปุ๋ยมูลไก่จัดได้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ประเภทปุ๋ยคอกที่มีปริมาณธาตุอาหารหลัก N, P และ
K มากที่สุด กล่าวคือมีปริมาณ N P และ K ทั้งหมดประมาณร้อยละ 2.42, 6.29 และ 2.11 ตามลำดับ
(ตารางที่ 4) หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับปุ๋ยมูลสุกร ปุ๋ยมูลไก่มีปริมาณธาตุปุ๋ย N, P และ K ทั้งหมด
มากกว่าประมาณ 2 เท่า อัตราปุ๋ยมูลไก่ที่มักแนะนำให้ใช้กับมันสำปะหลังควรมีปริมาณระหว่าง
600–800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถ้าใช้ในปริมาณนี้ ปุ๋ยมูลไก่จะให้ช่วงปริมาณธาตุอาหารหลักในรูป N, P
และ K ทั้งหมดสูงถึงระหว่างร้อยละ 14.4-19.2, 37.8-50.4 และ 12.6-16.8 ตามลำดับ หรือเทียบเท่า
กับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มากกว่า 2 กระสอบ (100 กิโลกรัม) ต่อไร่ สำหรับข้อที่ได้เปรียบ
อื่นๆ ของปุ๋ยมูลไก่เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีก็คือ นอกจากจะมีปริมาณธาตุอาหารหลัก N, P และ K
แล้ว ยังมีธาตุอาหารรอง (Ca, Mg, S) และธาตุอาหารเสริม (Fe, Mn, Zn, Cu, Mo, B, Cl) ครบทุก
ชนิดด้วย นอกจากนั้นส่วนผสมต่าง ๆ ในรูปของสารอินทรีย์ในปุ๋ยมูลไก่ที่ถ้าจะมีการใช้ในปริมาณ
มากพอสมควร (600-800 กิโลกรัมต่อไร่) ยังมีส่วนช่วยในการปรับปรุงสภาพโครงสร้างของดินให้ดี
ขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วยเช่นกัน เนื่องจากปุ๋ยมูลสุกรโดยเฉลี่ยมีปริมาณธาตุอาหารหลัก N, P และ K ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่พบในปุ๋ยมูลไก่ การใช้ปุ๋ยมูลสุกร (1.30% N, 2.40% P, 1.00% K) ปุ๋ยมูลวัว (1.10% N,0.40% P, 1.60% K) หรือปุ๋ยมูลควาย (0.97% N, 0.60% P, 1.66% K) ควรใช้ในปริมาณมากกว่าปุ๋ยมูลไก่ประมาณ 2-3 เท่าตัว หรือประมาณ 1,200–2,400 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งก็อาจจะมีปัญหาในการจัดหาปุ๋ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดซื้อ ค่าขนส่ง และค่าแรงงานในการใส่ลงในแปลงปลูกพืช ทางที่ดีในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทที่มีปริมาณธาตุอาหารหลัก N, P และ K ต่ำก็คือ ควรมีการใช้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าปริมาณดังกล่าวข้างต้น เช่น อาจใช้เพียงครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 600–
1,200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วเสริมปริมาณธาตุอาหารหลักโดยการใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในอัตราที่น้อยกว่า
อัตราที่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ก็น่าจะเกิดผลดีกว่าการใช้ปุ๋ยประเภทใดประเภทหนึ่ง (ปุ๋ย
อินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี) แต่เพียงอย่างเดียว เพราะปุ๋ยทั้ง 2 ประเภท คือ ปุ๋ยมูลสุกร มูลวัว หรือปุ๋ยมูล
ควาย เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีแบบผสมผสานจะเกิดผลดีในลักษณะที่เกื้อกูลส่งเสริมประสิทธิภาพซึ่ง

กันและกัน (Synergistic effect) กล่าวคือปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยปรับปรุงสภาพโครงสร้างของดินทำให้
ดินร่วนซุยขึ้น ระบายน้ำหรืออุ้มน้ำได้ดีขึ้น และยังช่วยในการดูดซับปุ๋ยเคมีบางส่วนไว้ได้อีกด้วย
ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยเคมีโดยการชะล้างโดยน้ำน้อยลง ในขณะที่ปุ๋ยเคมีที่ใช้จะเป็นปุ๋ยที่จะ
ให้ธาตุอาหารหลักในรูป N, P และ K แก่พืชเป็นสำคัญ


2) ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักที่ได้จากการหมักเศษพืชหรือผลพลอยได้ทางการเกษตรในรูปสารอินทรีย์
โดยทั่วไปมีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำกว่าปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ย (ตารางที่ 4) อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ย
หมักที่หมักจากเศษพืช เช่นจากฟางข้าว ผักตบชวา ต้นข้าวโพด เปลือกมันสำปะหลัง ฯลฯ แม้ว่า
จะมีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำ แต่ถ้าใช้ในปริมาณมาก เช่น การใช้ปุ๋ยหมักที่หมักจากเปลือกมัน
สำปะหลังที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานแป้งมันสำปะหลังในอัตราประมาณ 1.0–1.6 ตันต่อไร่
พบว่าให้ผลดีต่อการปรับปรุงและบำรุงดินมันสำปะหลัง
สำหรับการปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย โดยทั่ว ๆ ไปงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้
ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงและหรือบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังยังมีกันน้อยมากและผลที่ได้
โดยเฉพาะผลของการใช้ในระยะสั้นแบบฤดูปลูกต่อฤดูปลูก มักให้ผลไม่รวดเร็วและชัดเจนเหมือน
การใช้ปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตามโดยหลักการในเชิงวิชาการอย่างกว้าง ๆ ควรใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี
ในสัดส่วนที่เหมาะสมมากกว่า โดยเฉพาะกับชนิดดินที่มีปัญหาทั้งทางด้านสมบัติทางกายภาพและ
ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชในดิน ทั้งนี้เพราะปุ๋ยหมักจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการ
ปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน เช่น สมบัติการระบายน้ำและอากาศ ความสามารถในการอุ้มน้ำ
หรือแม้แต่สมบัติทางเคมีของดินเนื้อหยาบที่มีความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกต่ำ ซึ่งการใช้ปุ๋ย
หมักจะมีผลทำให้มีสมบัติทางด้านนี้ดีขึ้นด้วย ในขณะที่ปุ๋ยเคมีที่ใช้จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชให้กับ
พืชที่ปลูกเพื่อให้สามารถดูดใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ปุ๋ยพืชสด
นอกเหนือจากคุณค่าทางด้านการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินแล้ว
วัตถุประสงค์หลักของการใช้ปุ๋ยพืชสดก็เพื่อบำรุงรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินทางด้าน
ธาตุอาหารพืชและปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินให้สูงอยู่เสมอ ในทางปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้
ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก การใช้ปุ๋ยพืชสดในบางกรณีอาจมีความสะดวกมากกว่าและเสียค่าใช้จ่ายใน
การปฏิบัติน้อยกว่า ทั้งนี้เพราะในการปลูกพืชปุ๋ยสดนั้นใช้เมล็ดจำนวนไม่มาก กล่าวคือ
โดยทั่วไปมักใช้กัน เพียงประมาณ 5–10 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการหว่านลงพื้นที่ที่จะมีการปลูกพืชที่

ต้องการในภายหลัง แล้วปล่อยให้เจริญเติบโตเองก่อนการไถกลบลงดิน ไม่ต้องมีการจัดหาปุ๋ย
อินทรีย์ ชนิดปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในปริมาณมาก และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการใส่
ลงไร่นาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการปลูกพืชปุ๋ยสดในช่วงต้นฤดูฝนก่อนการปลูกพืชหลัก
เช่น มันสำปะหลัง อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ ทั้งนี้เพราะจะมีผลทำให้ต้องปลูกมันสำปะหลัง
ล่าช้าออกไปในช่วงฤดูฝน และจะมีผลทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่
ในทางวิชาการ พืชที่ควรใช้เป็นพืชปุ๋ยสดควรจะเป็นชนิดพืชที่เติบโตได้เร็ว มีศัตรูพืชรบกวนน้อย
ทนแล้งและต้านทานต่อการทำลายของโรคและแมลงได้ดี เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย และปลูกได้ทุก
ฤดูกาล สำหรับพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง ในการใช้เมล็ดปอเทืองหว่านในอัตราประมาณ 3–5
กิโลกรัมต่อไร่แล้วไถกลบในช่วงเวลาออกดอกหรือเมื่อมีอายุประมาณ 50 วัน จัดได้ว่าเป็นพืชปุ๋ย
สดที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังดีที่สุด ปัญหาในทางปฏิบัติที่สำคัญก็คือ มักจะมี
แมลงศัตรูพืชรบกวนมากทำให้มีโอกาสเก็บเมล็ดพันธุ์ในตอนเก็บเกี่ยวได้น้อย พืชปุ๋ยสดชนิด
อื่นๆ ที่นิยมใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินก็คือ พืชตระกูลถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วพร้า
ถั่วพุ่ม ถั่วแปบ ถั่วคุดซู ถั่วลาย โสนจีนแดง โสนอัฟริกัน เป็นต้น
4) ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปุ๋ยชีวภาพไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดต่าง ๆ หรืออาจเตรียม
ขึ้นในรูปอื่น ๆ เช่น ในรูปปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยน้ำสกัดชีวภาพ หรือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ โดยทั่ว ๆ
ไปถ้าใช้ใหเ้ หมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกและสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีปริมาณอินทรียว์ ัตถุ
ในดินน้อยเกินไปและมีกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินไม่ดีพอ การใช้ปุ๋ยชีวภาพและหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ประเภทอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักรวมทั้งปุ๋ยเคมี จะเกิดผลดีไม่มากก็น้อยต่อ
การเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการ
ใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์น้ำชนิดต่างๆกับมันสำปะหลังยังมีน้อยมาก จึงไม่สามารถสรุปได้อย่าง
ชัดเจนว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำควรใช้เพื่อเป็นส่วนเสริมหรือทดแทนปุ๋ยเคมีบางส่วน
เท่านั้น ทั้งนี้เพราะโดยหลักการทางวิชาการแล้วไม่ควรใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดใด ๆ รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์
น้ำเป็นปุ๋ยในการปรับปรุงดินหรือเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่ได้ผลต่อการ
เพิ่มผลผลิตพืชตามเป้าหมายค่อนข้างแน่นอน รวมทั้งอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย





9.3 การใช้ปุ๋ยเคมี
ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเนื่องจากเป็นดินที่ขาดธาตุอาหารพืชที่จำเป็นชนิดต่าง ๆ ใน
ระดับค่อนข้างมากถึงระดับรุนแรงการใช้ปุ๋ยเคมีโดยวิธีการที่เหมาะสมโดยทั่ว ๆ ไปมีผลต่อการเพิ่ม
ผลผลิตมันสำปะหลังอย่างเด่นชัดและในปริมาณมาก และมันสำปะหลังส่วนใหญ่มักจะมี
ผลตอบสนองเชิงบวกต่อการใช้ปุ๋ยเคมีแบบฤดูปลูกต่อฤดูปลูก ถ้ามีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี ซึ่งจะ
พิจารณากันในสี่หัวข้อหลัก ๆ ด้วยกัน คือ 1) ชนิดปุ๋ยที่จะใช้ 2) ปริมาณที่จะใช้ 3) ระยะเวลาการใส่
และ 4) วิธีการใส่ให้กับพืช โดยทั้งนี้อาจจะเป็นการใส่ปุ๋ยโดยทางดิน ทางใบหรือโดยการละลายไป
ในน้ำชลประทาน (fertigation) ที่จะให้กับพืช ซึ่งสำหรับวิธีการใช้ปุ๋ยกับมันสำปะหลังนั้น
วิธีการใช้โดยทางดินเป็นวิธีที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่ว ๆ ไป ดังนั้นในที่นี้การใช้ปุ๋ยเคมีกับมัน
สำปะหลังจะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะการใช้โดยทางดินเท่านั้น

1) ชนิดปุ๋ยเคมี
ถึงแม้ว่ามันสำปะหลังจะเจริญเติบโตในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้ดีกว่าพืชไร่
เศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่มันสำปะหลังที่ปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็จะแสดง
การตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีในระดับสูงมากเช่นกัน สำหรับในประเทศไทย จากการวิจัยอย่าง
ต่อเนื่องและยาวนาน สรุปได้ว่ามันสำปะหลังมักจะตอบสนองต่อการใช้ธาตุปุ๋ย N มากกว่าธาตุปุ๋ย P
และ K และการใช้ปุ๋ย P ถ้าใส่ในปริมาณมากติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้มันสำปะหลังที่ปลูกมี
ปัญหาการขาดธาตุสังกะสีหรือ Zn ได้ ดังนั้น ในการเลือกใช้ชนิดปุ๋ย โดยพิจารณาชนิดธาตุอาหาร
พืชที่มีในปุ๋ยเคมี ผู้ใช้จะต้องพิจารณาถึงปฏิกิริยาสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดผลกระทบในทางบวกหรือ
ลบระหว่างธาตุอาหารพืชชนิดต่าง ๆ ในปุ๋ยเคมีหรือที่มีอยู่แล้วเดิมในดินด้วย
ปุ๋ยเคมีที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมายหลายสูตร และมีทั้งประเภทที่เป็นปุ๋ยเดี่ยว
หรือปุ๋ยที่ให้ธาตุปุ๋ยชนิดเดียว เช่น ปุ๋ยยูเรีย (ปุ๋ยเกลือ) ปุ๋ยแอมโมเนีย ซัลเฟต (ปุ๋ยน้ำตาล) และ
ปุ๋ยทริปเปิ้ล ซูเปอร์ฟอสเฟต และปุ๋ยผสม (ปุ๋ยที่มีธาตุปุ๋ยมากกว่าหนึ่งชนิด) สูตรต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยข้าว
สูตร 16-20-0, 16-16-8, 16-8-8 ฯลฯ ปุ๋ยพืชไร่ สูตร 15-15-15, 13-13-21, 12-24-12 ฯลฯ สำหรับ
มันสำปะหลัง ปุ๋ยเคมีที่สะดวกในการจัดหาและทางราชการเองก็ยังแนะนำให้ใช้กับดินที่มีเนื้อดิน
ประเภทต่าง ๆ โดยทั่ว ๆ ไปก็ คือ ปุ๋ยผสมสำเร็จรูปสูตรต่าง ๆ ได้แก่ ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15,
13-13-21 16-8-14, 15-7-18 และปุ๋ยเดี่ยวสูตร 21-0-0 (ปุ๋ยน้ำตาล) หรือถ้าจะผสมปุ๋ยใช้เอง
เกษตรกรอาจใช้แม่ปุ๋ยในรูปปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยเชิงประกอบ เช่น แม่ปุ๋ยในรูปปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ชนิด

เม็ดโฟม ปุ๋ยไดแอมโมเนียม ฟอสเฟสสูตร 18-46-0 และปุ๋ยโฟแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) หรือ
ปุ๋ยม๊อป (MOP) มาผสมให้ได้ตามสูตรที่ต้องการได้ สำหรับการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ได้ธาตุอาหารหลัก
N, P และ K ในอัตราส่วนที่เหมาะสมนั้น แม้ว่าเกษตรกรโดยทั่ว ๆ ไปจะนิยมใช้ปุ๋ยผสมสูตร
15-15-15 ที่มีอัตราส่วนระหว่าง N:P2O5 : K2O เท่ากับ 1:1:1 ก็ตาม แต่จากผลการทดลองกับดินที่
ใช้ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่ว ๆ ไป พบว่า การใช้ปุ๋ยผสมสำเร็จรูปหรือปุ๋ยผสมเองให้มีสัดส่วนของ
ธาตุปุ๋ย P ต่ำกว่าธาตุปุ๋ย N และธาตุปุ๋ย K เช่น ปุ๋ยผสมสูตร 16-8-16, 15-5-10, 10-5-15, 14-8-8 ที่
มีเรโชปุ๋ยเท่ากับ 2:1:2, 3:1:2, 2:1:3 และ 1.75:1:1 ให้ผลดีพอ ๆ กับการใช้ปุ๋ยผสมที่มีเรโชปุ๋ยเท่ากับ
1:1:1 นอกจากนี้ยังทำให้ทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาหรือจัดเตรียมปุ๋ยชนิดดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพราะ
เป็นการใช้ปุ๋ยสูตรที่มีสัดส่วนของปริมาณธาตุปุ๋ย P ที่มีราคาต่อหน่วยแพงที่สุด (เมื่อเปรียบเทียบกับ
ธาตุปุ๋ย N และ K) ลดลงไปถึงประมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15

2) ปริมาณการใช้ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยผสมไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยชนิดใดและสูตรอะไร เช่น ปุ๋ยเคมีผสมสำเร็จรูป
สูตร 15-15-15 และสูตร 13-13-21 หรือปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กับยางสูตร 15-7-18, 16-8-14 หรือปุ๋ยผสม
เองสูตร 16-8-16 ถ้าจะใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวควรใช้กับมันสำปะหลังในอัตราประมาณ 1-2 กระสอบ
ต่อไร่ หรือ 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นกับชนิดและสภาพดิน ราคาปุ๋ยเคมีและราคาหัวมันสำปะหลัง
ถ้าสามารถจะคาดคะเนราคาในช่วงที่จะขุดขายได้ โดยหลักการอย่างกว้าง ๆ ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นดิน
เนื้อละเอียดปานกลางถึงดินเนื้อละเอียด เช่น เป็นดินทรายแป้ง ดินร่วนปนทรายแป้ง ดินร่วนเหนียว
ควรใช้ปุ๋ยเคมีเพียง 1 กระสอบก็พอ ในขณะที่ดินเนื้อหยาบที่โดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำกว่า
เช่น ดินร่วนปนทราย ดินทราย ถ้าปุ๋ยเคมีราคาไม่แพงมากนักหรือราคาปกติ รวมทั้งถ้ามันสำปะหลัง
มีราคาดีพอสมควร อาจใช้ปุ๋ยเคมีในรูปปุ๋ยผสมสำเร็จรูปตามสูตรข้างต้นในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 2
กระสอบต่อไร่ (100 กิโลกรัมต่อไร่) ก็ได้ ยกเว้นถ้าในกรณีที่ราคาหัวมันสำปะหลังตกต่ำมาก และ
ในขณะเดียวกันปุ๋ยเคมีกลับมีราคาสูงเกินไป การใช้ปุ๋ยเคมีควรใช้ให้น้อยกล่าวคือควรใช้ไม่เกินไร่
ละ 1 กระสอบ (50 กิโลกรัม) ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีชนิดและสูตรต่าง ๆ อย่างเหมาะสมสำหรับมัน
สำปะหลังตามวิธีที่แนะนำโดยทางราชการสำหรับชนิดดินที่มีประเภทเนื้อดิน 3 ประเภทมี
รายละเอียดในตารางที่ 5

3) ระยะเวลาการใส่ปุ๋ย

มันสำปะหลังที่ปลูกในฤดูฝน (ต้นฤดูฝน) ระยะเวลาการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมดควรใช้
ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนแรกหลังปลูก ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ดินมีความชื้น
สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง และในระยะนี้มันสำปะหลังเองก็มีความต้องการธาตุอาหารพืชในปริมาณ
มาก โดยหลักการอย่างกว้าง ๆ ควรใส่ปุ๋ยเคมี 1 หรือ 2 ครั้ง หลังการกำจัดวัชพืชเสร็จใหม่ ๆ ในช่วง
3 เดือนแรกหลังปลูก จะเป็นช่วงเวลาไหนก็ได้ ระยะเวลาการใช้ปุ๋ยเคมีชนิดต่าง ๆ ตามคำแนะนำ
ของทางราชการขอให้ดูรายละเอียดในตารางที่ 5 เช่นกัน
4) วิธีการใส่ปุ๋ยเคมี
ในการใส่ปุ๋ยเคมีให้กับมันสำปะหลังโดยทางดินนั้น นอกจากจะเลือกชนิดปุ๋ย ปริมาณ
ปุ๋ยและระยะเวลาการใส่ให้เหมาะสมแล้ว จะต้องใส่ปุ๋ยลงดินโดยวิธีการที่ถูกต้องด้วย โดยทั่ว ๆ ไป
อาจกล่าวได้ว่าในการใส่ปุ๋ยเคมีทุกชนิดให้กับมันสำปะหลังนั้น เกษตรกรต้องไม่ใส่โดยวิธีหว่านให้
ทั่วทั้งแปลงเป็นอันขาด เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกห่างและโตช้ากว่าพืชไร่ชนิดอื่น ๆ โดย
ส่วนใหญ่ การหว่านปุ๋ยให้กระจายทั่วพื้นที่ปลูกจะทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยโดยการชะล้างในปริมาณ
มาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับหญ้ามากขึ้น และมันสำปะหลังจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยเคมีที่ใส่ได้น้อย
ทำให้เปลืองปุ๋ยเพราะพืชอาจให้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
ในทางปฏิบัติ วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องคือการขุดเป็นจุดหรือหลุมข้างต้น หรือโดย
การเจาะหลุมตามความกว้างของหน้าจอบข้างต้น 1-2 จุด (ถ้าใส่ได้ 2 จุดยิ่งดี) โดยใช้จอบฟันลง
ข้างต้นให้ลึกประมาณ 3-4 นิ้ว ห่างจากต้นประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วโรยปุ๋ยลงหลุมที่ขุดด้วยจอบพร้อม
กลบดินปิดหลุมที่ใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยโดยวิธีการนี้พืชจะใช้ปุ๋ยได้มากกว่าวิธีหว่าน และการสูญเสียปุ๋ย
เนื่องจากฝนและการดูดกินโดยวัชพืชจะเกิดน้อยกว่าด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการใส่ที่แนะนำ
โดยทางราชการมีรายละเอียดสรุปไว้ในตารางที่ 5
9.4 การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ สารปรับปรุงดิน และปุ๋ยชีวภาพ
ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นดินที่มีปัญหาทั้งทางด้านสมบัติ
ทางกายภาพ สมบัติทางเคมีและความอุดมสมบูรณ์ของอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืชในดิน
นอกจากนั้นยังเกิดการสูญเสียเนื้อดิน อินทรีย์วัตถุในดินและธาตุอาหารพืชที่มีในดินตามธรรมชาติ

อันเนื่องมาจากการเกิดกษัยของดินในการผลิตและการปลูกมันสำปะหลังแต่เพียงชนิดเดียวอย่าง
ต่อเนื่อง โดยไม่มีหรือมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ
สมบัติดินเพื่อเพิ่มความสามารถของดินในการให้ผลผลิตของดินมันสำปะหลังให้สูงขึ้นนั้น การ
ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน และการบำรุงรักษาดินโดยการเพิ่มและการดูแลรักษา (การ
อนุรักษ์) ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งสำหรับความอุดมสมบูรณ์ของดินในที่นี้นั้น ส่วนใหญ่ก็
หมายถึงสมบัติที่เกี่ยวข้องกับปริมาณอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืชในดิน รวมทั้งปริมาณและ
สัดส่วนของดินเนื้อละเอียดในดิน และสมบัติเกี่ยวกับความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดิน

ในการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงสมบัติทางกายภาพและเพื่อบำรุงและอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์
ของดินนั้น วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี การใช้ปุ๋ยโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งในรูปปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารอินทรีย์ในรูปสารปรับปรุงดิน เช่น กากอ้อย เปลือกมัน ฯลฯ ใน
ปริมาณมาก จะมีส่วนช่วยปรับปรุงดินที่มีปัญหาทางกายภาพให้ดีขึ้น เช่น ทำให้ดินที่มีปัญหาทาง
กายภาพมีการระบายน้ำและอากาศเหมาะสมมากขึ้น มีสมบัติอุ้มน้ำและกักเก็บเนื้อปุ๋ยเคมีที่ใส่ได้ดี
ขึ้น ฯลฯ ซึ่งก็จะทำให้เกิดผลดีมากขี้นต่อประสิทธิภาพในการดูดใช้ธาตุอาหารพืชจากปุ๋ยเคมีที่ใส่
ลงไปด้วย ดังนั้นโดยหลักการที่ควรจะปฏิบัติสำหรับดินมันสำปะหลังที่มีปัญหาดังกล่าว จึงควรมี
การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยเฉพาะปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือสารอินทรีย์ปรับปรุงดิน ฯลฯ เป็น
ดีที่สุด โดยพร้อม ๆ กันนั้นก็ควรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงบ้างตามสัดส่วน แล้วนำเงินที่เหลือจาก
การลดการใช้ปุ๋ยเคมีดังกล่าวมาจัดหาปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในลักษณะผสมผสานก็จะไม่
เป็นภาระเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงเกินไปหรือเกินไปกว่าที่จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ใน
ปริมาณมากแต่เพียงอย่างเดียว

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

มายเหตุ ถ้าใช้ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 แทนปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตสูตร 21-0-0 ให้ใช้ในอัตราเพียง
ประมาณ ครึ่งหนึ่งของปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตที่ให้ไว้ข้างต้น
ในโครงการความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดินปี 2551 สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ได้ทำ
การทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นการอนุรักษ์ดิน
และน้ำ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อมันสำปะหลังให้มีความยั่งยืน ในการ
ปรับปรุงบำรุงดิน ได้ใช้ปุ๋ยหมักจากหัวเชื้อจุลินทรีย์ พ.ด.12 โดยเตรียมดินด้วยไถผาล 3 ปรับปรุง
ดินด้วยปุ๋ยหมัก พ.ด.12 ในอัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถพรวนกลบด้วยปุ๋ยหมักด้วยผาล 7
จากนั้นจึงฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ พ.ด.2 ในอัตรา1ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร ผสมแล้วฉีดพ่นจำนวน
100 ลิตรต่อไร่ เพื่อย่อยสลายเศษวัชพืชให้เป็นปุ๋ย โดยยกร่องแล้วปลูก

เมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 30 วันกำจัดวัชพืชทั้งกลางร่องและสันร่อง ใส่ปุ๋ยเคมี 15-7-18 ใน
อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ โรยเมล็ดถั่วพร้ากลางร่องปลูก ในอัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ แล้วไถกลบถั่วพร้า
และปุ๋ยเคมี
เมื่อมันสำปะหลังมีอายุครบ 60 วัน ผสมน้ำหมัก พ.ด.2 ในอัตรา 1:500 ฉีดพ่นในอัตรา 100
ลิตร/ไร่ แล้วทำการไถพรวนกลบถั่วพร้ากลางเพื่อย่อยสลายให้เป็นปุ๋ย หลังจากนั้นเมื่อมีวัชพืช
เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ได้กำจัดอีก 2 ครั้ง ผลผลิตที่ได้รับเมื่ออายุได้ 10 เดือน เท่ากับ 3.2 ตัน/ไร่
เพิ่มจากที่เคยได้เดิม 2.5ตัน/ไร่
จะเห็นได้ว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ควบคู่กันไปในการผลิต
มันสำปะหลังโดยใช้ปุ๋ยเคมี ลดลงจากเดิม 50 กิโลกรัม/ไร่ เหลือเพียง 25 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งประหยัด
ค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีลดลงครึ่งหนึ่ง
9.5 การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
แม้ว่าเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่ว ๆ ไปจะนิยมใช้ปุ๋ยผสมชนิดเม็ดสำเร็จรูปเป็น
หลัก เกษตรกรอาจผสมปุ๋ยเคมีใช้เองโดยการผสมแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สูตรปุ๋ย
ตามที่ต้องการ ซึ่งในการปฏิบัติดังกล่าว เกษตรกรต้องจัดซื้อแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ทำการคำนวณและ
ผสมปุ๋ยเองโดยวิธีง่าย ๆ ก่อนนำไปใส่ให้กับมันสำปะหลัง
เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยผสมประเภทปุ๋ยเม็ดสำเร็จรูป การผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง มีข้อดี
และ ข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี
1) โดยทั่ว ๆ ไปมีต้นทุนในการใช้ปุ๋ยน้อยกว่าการใช้ปุ๋ยผสมชนิดเม็ดสำเร็จรูป
2) สามารถผสมให้ได้สูตรที่เหมาะสมกับสภาพดินได้ดีกว่าปุ๋ยผสมชนิดเม็ดสำเร็จรูปและ
ใช้แรงงานหรือค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ยน้อยกว่า เนื่องจากโดยทั่วๆไปมักจะใช้ปุ๋ยต่อเนื้อที่ในปริมาณ
ที่น้อยกว่า
ข้อเสีย
1) บางครั้งหาแม่ปุ๋ยชนิดที่ต้องการจะผสมให้ได้ตามสูตรที่กำหนดได้ยาก
2) ก่อนการใส่ทุกครั้งต้องเสียเวลาและแรงงานในการผสมปุ๋ยก่อนการใช้
3) เกษตรกรต้องรู้วิธีการคำนวณสูตรปุ๋ย เพื่อที่ได้ใช้แม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ที่จะนำมาผสมกันได้อย่างถูกต้อง
4) มักเกิดปัญหาการแยกชั้น (segregation) ของแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ในถุงหรือภาชนะใส่ปุ๋ย

ในขณะที่ปุ๋ยผสมชนิดเม็ดสำเร็จรูปจะไม่เกิดปัญหานี้การผสมปุ๋ยเคมีเพื่อใช้เอง ควรพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) กำหนดสูตรปุ๋ยที่จะผสม ขั้นแรกเป็นการกำหนดสูตรปุ๋ยที่จะผสมเองขึ้นก่อน โดยใน
ที่นี้จะยกตัวอย่างสูตรปุ๋ยที่จะแนะนำให้ใช้แทนปุ๋ยผสมสำเร็จสูตร 15-15-15 คือปุ๋ยสูตร 16-8-16
โดยลดปริมาณธาตุอาหารพืชในรูปฟอสฟอรัสที่เป็นตัวเลขตัวกลางของปุ๋ยสูตร 15-15-15 ลง
ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เสียค่าปุ๋ยน้อยกว่า และปุ๋ยสูตร 16-8-16 นี้ยังพบว่าสามารถใช้กับมัน
สำปะหลังแล้วได้ผลดีเหมือนปุ๋ยผสมสำเร็จรูปสูตร 16-16-16 ที่มีสูตรใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมีสูตร
15-15-15 มาก นอกจากนั้นอาจผสมปุ๋ยสูตรอื่น ๆ ใช้เองตามที่ทางราชการแนะนำให้ใช้กับมัน
สำปะหลัง ได้แก่ ปุ๋ยผสมสูตร 16-8-14 15-7-18 และ 22-11-22 อีกด้วย

2) จัดหาแม่ปุ๋ยที่จะใช้ผสม แม่ปุ๋ยที่จะใช้ผสมเพื่อให้ได้ปุ๋ยสูตร 16-8-16 แนะนำให้ใช้ปุ๋ย
ยูเรีย สูตร 46-0-0 ปุ๋ยแด๊ปสูตร 18-46-0 และปุ๋ยม๊อปสูตร 0-0-60 การจัดหาหรือซื้อแม่ปุ๋ยชนิด
ดังกล่าวถ้าไม่สามารถจัดซื้อจากร้านค้าในตลาดหรือในหมู่บ้านได้ เกษตรกรอาจติดต่อเกษตรตำบล
เกษตรอำเภอ ธกส. หรือกลุ่มสหกรณ์การเกษตรในท้องที่ทั้งนี้เพราะแม่ปุ๋ยบางชนิด เช่น ปุ๋ยแด๊ป
อาจไม่มีขายในท้องตลาดโดยทั่ว ๆ ไป หรือหาซื้อยาก

3) การคำนวณสูตรปุ๋ยผสม เมื่อได้แม่ปุ๋ยทั้ง 3 ชนิดมาแล้ว นำมาคำนวณเพื่อให้ได้ธาตุ
อาหารพืชเท่ากับการใช้ปุ๋ยผสมสูตร 16-8-16 จำนวน 1 กระสอบ (50 กิโลกรัม) โดยในที่นี้ได้
คำนวณไว้ให้แล้ว ดังนี้ คือ ใช้ปุ๋ยเกลือหรือปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 14 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ย
แด๊ปสูตร 18-46-0 จำนวน 8.7 กิโลกรัม และปุ๋ยม๊อปสูตร 0-0-60 จำนวน 13.3 กิโลกรัม (รวมทั้งสิ้น
36 กิโลกรัม) โดยนำมาผสมให้เข้ากันแล้วนำไปใช้ทันทีหรือใช้ให้เร็วที่สุด โดยการนำไปใส่ให้กับ
มันสำปะหลังต้นละ 1 ช้อนแกง (ช้อนสังกะสี) ที่ตักพูน ๆ (ต้นละประมาณ 23 กรัม) ซึ่งจากจำนวน
ต้นมันสำปะหลังที่ปลูกไร่ละ 1,600 ต้น (ถ้าใช้ระยะปลูก 1 x 1 เมตร) จะใส่ปุ๋ยที่ผสมไว้หมดพอดี
ปุ๋ยผสมเองที่ใช้ทั้งหมด 36 กิโลกรัมต่อไร่นี้จะให้ธาตุอาหารหลักในปุ๋ยแก่พืชเทียบเท่ากับการใช้ปุ๋ย
ผสมสำเร็จรูปสูตร 16-8-16 จำนวน 1 กระสอบหรือ 50 กิโลกรัม

9.6 หลักการและวิธีการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง
ถ้าเกษตรกรสามารถจัดซื้อแม่ปุ๋ยที่เหมาะสมตามที่ต้องการได้ คือ แม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ย
แด็ป (18-46-0) และปุ๋ยม๊อป (0-0-60) ควรนำมาผสมกันโดยมีหลักการและวิธีการที่ถูกต้องดังนี้
       1) เทปุ๋ยที่มีจำนวนมากที่สุดคือปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 14 กิโลกรัมลงบนพื้นที่ราบเรียบ
และแข็งก่อนแล้วตามด้วยการเทปุ๋ยม๊อป (0-0-60) จำนวน 13.3 กิโลกรัมลงบนกองปุ๋ยยูเรีย แล้ว
ตามด้วยปุ๋ยแด๊ป (18-46-0) จำนวน 8.7 กิโลกรัมตามลำดับ หลังจากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยจอบ
หรือพลั่วแล้วนำไปใส่ให้กับมันสำปะหลังโดยทันที ในกรณีที่ยังใส่ไม่ได้ในทันทีหรือใส่ไม่หมด
ให้ตักใส่ภาชนะ ถุง หรือกระสอบแล้วปิดให้แน่น ก่อนที่จะนำไปใส่ในไร่มันสำปะหลังทั้งหมด ไม่
ควรเก็บไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพราะปุ๋ยที่เหลืออาจชื้นและจับกันเป็นก้อนแข็งในภายหลังได้
       2) ไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมีผสมเอง (หรือปุ๋ยเคมีทุกประเภท) พร้อม ๆ กับการใช้ปูนเพื่อปรับปรุง
ดิน เพราะอาจจะทำให้ปุ๋ยเกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืชได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธาตุปุ๋ย N และ P

อ้างอิง : www.tapiocathai.org






ปุ๋ยสำหรับยาสูบ Flue-Cured Tobacca
4. การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมและถูกต้อง (FERTILIZER  APPLICATION )
ลักษณะปุ๋ยสำหรับยาสูบและการเลือกใช้
ปุ๋ยที่ใช้กับยาสูบ  ควรจะประกอบไปด้วย

    1.  ปุ๋ยหลัก  (N - P - K  Fertilizer ) หรือรองพื้น ( Base dressing )    ซึ่งจะประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน (N) , ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม ( K) รวมทั้งธาตุอาหารรองที่จำเป็น อาทิ  แมกนีเซียม (Mg) และธาตุอาหารเสริมพื้นฐาน โบรอน ( B) ปริมาณธาตุอาหารหลัก N-P-K  จะถูกกำหนดโดยดูพื้นฐานของธาตุอาหารในดินปลูกซึ่งควรมีการวิเคราะห์เบื้องต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์ธาตุฟอสฟอรัส (P)  เมื่อทราบแล้วก็จะนำมาจัดสัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารทั้ง 3 ตัวหรือที่เรียกว่า  “ N-P-K  Ratio ”  สัดส่วนธาตุอาหาร


N-P-K   หรือ  N-P-K  Ratio  นั้นในประเทศไทยของเรามีปุ๋ยสำเร็จรูปสูตรมาตรฐานที่ใช้กับยาสูบที่เหมาะสม อาทิ 6-12-24 หรือ 1:2:4   หรือ สูตร 8-12-24   หรือ N-P-K ratio = 1:1.5:3   เป็นต้น ในสภาพดินปลูกยาสูบเมืองไทยโดยทั่ว ๆ ไป  กำหนดความต้องการธาตุอาหารหลักโดยประมาณดังต่อไป
นี้
          ธาตุไนโตรเจน (N)        12.0 - 15.0    กิโลกรัม N / ไร่

          ธาตุฟอสฟอรัส (P)        12.0 - 16.0    กิโลกรัม P / ไร่

         ธาตุไปแตสเซียม (K )    28.0 - 36.0    กิโลกรัม K / ไร่

การเลือกใช้อัตราธาตุอาหารแต่ละตัวในปริมาณเท่าใด  ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานบางประการ นั่นคือ

        1.1     สภาพดิน   ดินอุดมสมบูรณ์สูงหรือต่ำ เนื้อดินปลูก อาทิ ดินร่วน หรือ ดินทราย เป็นต้น

        1.2     ฤดูกาลปลูก  อยู่ในช่วงต้นฝน  หรือปลายฝน หรือต้นหนาว เป็นต้น

      2.     ปุ๋ยเสริม  หรือปุ๋ยเติมแต่ง  ( Side  dressing)    ในบางกรณีเมื่อมีการใช้ปุ๋ยหลัก (N-P-K Fertilizer ) ตามปกติแล้ว แต่จำเป็นต้องมีการเสริมหรือปรับการให้ธาตุอาหารหลักบางตัว อาทิ  ไนโตรเจน หรือ โปแตสเซียม (K)  ก็ควรจะมีการเลือกปุ๋ยที่จะเติมแต่งเข้าไป ทั้งนี้เพราะว่าในบางสภาพ ปุ๋ยรองพื้นอาจมีการสูญเสียหรือถูกชะล้างไปได้  การเลือกเติมแต่งให้กับยาสูบ (Side dressing)  จะอยู่ในช่วงอายุ  3 สัปดาห์  และรูปของปุ๋ยก็ควรจะเหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะเน้นไนโตรเจนในรูปไนเตรต (NO3) ส่วนจะมีธาตุอาหารหลักตัวอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับสภาพดินปลูก  สูตรปุ๋ยเสริมหรือเติมแต่งที่เหมาะสมในประเทศไทยเราที่นิยมใช้จะมีหลายสูตร อาทิ 13-0-46  (โปแตสเซียมไนเตรต ) , สูตร 15-0-14 (โซเดียมโปแตสเซียมไนเตรต ) หรือที่เรียกว่า “ชีเลี่ยนไนเตรต” หรือ  15-0-0 ( แคลเซียมไนเตรต ) และอื่น ๆ

ดังนั้น..จากปุ๋ย 2 ประเภทที่กล่าวมาจึงนำมากำหนดเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมดังต่อไปนี้คือ

4.1    ปุ๋ยรองพื้น (BASE  DRESSING )  กำหนดให้ใช้ปุ๋ย  N : P : K  =  1 : 1.5 : 3  ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมมาก อาทิ ปุ๋ยเพาเวอร์เฟอร์ท สูตร 8-12-24  + 4  MgO + 0.06 B อัตราไร่ละ 100 กิโลกรัม

4.2    ปุ๋ยแต่งข้างหรือปุ๋ยเสริม (SIDE  DRESSING ) กำหนดให้ใช้ปุ๋ยในรูปไนเตรตซึ่งมี N : P : K  =  1 : 0 : 0  หรือ  1 : 0 : 1    จะเป็นสูตรที่เหมาะสมสำหรับการเติมแต่ง เพื่อชดเชยหรือเพิ่มธาตุอาหาร  ทั้งไนโตรเจน ( N ) และโปแตสเซียม ( K ) ที่อาจไม่เพียงพอ ถ้าจะใช้เพียงเฉพาะแค่ปุ๋ยรองพื้น ( BASE  DRESSING) เ พียงอย่างเดียว
การใช้ปุ๋ยเติมแต่งนับว่ามีความจำเป็นมากสำหรับยาสูบ  การเลือกปุ๋ยเติมแต่ง ( SIDE  DRESSING ) จึงมีความจำเป็นต้องเลือกปุ๋ยที่เหมาะสม  จึงควรใช้หลักในการพิจารณาดังต่อไปนี้ คือ
4.2.1    ปุ๋ยเติมแต่งข้าง ( Side dressing ) ธาตุอาหารไนโตรเจน ( N ) ควรอยู่ในรูป ไนเตรต ( NO3 )

4.2.2    ปุ๋ยเติมแต่งข้าง ( Side dressing ) ธาตุอาหารโปแตสเซียม ( K ) ควรมาจากแม่ปุ๋ย โปแตสเซียมไนเตรต
( KNO3 ) จะมีประสิทธิภาพดีที่สุด

4.2.3    เมื่อคิดต้นทุนต่อธาตุอาหาร ทั้งธาตุอาหารไนโตรเจน ( N ) และ โปรแตสเซียม ( K ) แล้ว  จะต้นทุนต่ำสุดเมื่อเทียบกับการไปใช้ปุ๋ยในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

4.2.4    ควรเลือกปุ๋ยเติมแต่ง ที่จะไปเสริม ปุ๋ยรองพื้น ( Base  dressing ) ให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อคิดต้นทุนรวมแล้วจะต่ำกว่าปุ๋ยทั่วไป




วิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง

( ก ) ปุ๋ยรองพื้น      ( Base  dressing )  ควรแบ่งใส่  2 ครั้ง  ตามช่วงอายุดังนี้

    ครั้งที่  1     หลังย้ายกล้าปลูก  7 – 10 วัน   โดยฝังปุ๋ย อัตรา  30  กิโลกรัมต่อไร่

    ครั้งที่  2     หลังย้ายกล้าปลูก  25  วัน     โดยฝังปุ๋ย อัตรา  70  กิโลกรัมต่อไร่

( ข )     ปุ๋ยแต่งข้างหรือเติมแต่ง ( Side  dressing )กำหนดให้ใส่ อาจโดยการฝัง หรือผสมน้ำรด ก็ได้  ในช่วงอายุ 7 – 10 วัน  และอายุ  25 วัน อัตราไร่ละ  40 – 50 กิโลกรัมต่อไร่
สำหรับ ปุ๋ยเติมแต่ง(Side Dressing)  อาจใช้ในกรณีพิเศษได้ดังต่อไปนี้

( ข.1 )  ผสมน้ำรด     เพื่อเร่งการเติบโตได้  ในช่วงอายุ 7 – 10 วัน  ในอัตราไม่เกิน  10 กิโลกรัมต่อไร่

( ข.2 )  ผสมน้ำรด     เพื่อชดเชยการขาดธาตุอาหารไนโตรเจน ในช่วงใดช่วงหนึ่ง  ตั้งแต่ยาสูบอายุ 35 วันขึ้นไป  จนถึง  55 วัน โดยจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านคุณภาพใบยา ในอัตราไร่ละไม่เกิน 10 กิโลกรัม






 ซอยล์แอสท์
SOIL - AST  “สารปรับสภาพดินและบำรุงดิน” (SOIL Conditioner)

คุณสมบัติ
1. ซอยล์แอสท์ ช่วยลดความเป็นกรดในดินล่าง เนื่องจากดินล่างมีอะลูมินั่มสูง อะลูมินั่มจะรวมตัวกับอนุมูลซัลเฟตใน ซอยล์แอสท์ เป็นอะลูมินั่มซัลเฟต ทำให้อะลูมินั่มไม่ละลายในน้ำ ซึ่งจะทำให้ดินเป็นกรดน้อยลง
2. ซอยล์แอสท์ เพิ่มคุณค่าของสารอินทรีย์ เมื่อผสมซอยล์แอสท์ กับสารอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เช่น สารอินทรีย์วัตถุ เนื่องจากแคลเซียมซึ่งเป็นองค์ประกอบของ ซอยล์แอสท์ จะช่วยลดการเผาผลาญของอินทรีย์วัตถุในดิน แคลเซียมทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างอินทรียวัตถุกับดินเหนียว
3. ซอยล์แอสท์ ลดการพังทลายของน้ำและอากาศในดิน ลดปัญหาดินฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย เมื่อใช้ร่วมกับสารโพลิเมอร์ ลดปัญหาสารตกค้างของยาฆ่าแมลงหรือธาตุอาหารที่ตกค้างมากเกินไป
4. ซอยล์แอสท์ ช่วยการเตรียมดินในระบบการไม่ไถพรวนดินการใส่ ซอยล์แอสท์ ในระบบไม่ไถพรวนดิน จะช่วยปรับปรุงดิน ดินเกาะตัวเป็นก่อนเล็กๆ ทำให้ง่ายต่อการซึมน้ำและการใส่ปุ๋ยที่ผิวดินจะแทรกซึมลงไปในดินได้ง่ายขึ้น
5. ซอยล์แอสท์ เป็นแหล่งให้ออกซิเจนแก่พืช อนุมูลซัลเฟตใน ซอยล์แอสท์ จะถูกพืชดูดย่อยแล้ว
ปลดปล่อยออกซิเจนให้แก่รากพืชได้ส่วนหนึ่ง
6. ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เนื่องจาก ซอยล์แอสท์ ให้ธาตุแคลเซียม ซึ่งช่วยให้ดินเหนียวจับตัว
เป็นก้อนทั้งในสภาพดินเป็นกรดหรือด่าง ช่วยให้รากเจริญเติบโต ทำให้อากาศและน้ำผ่านระหว่างเม็ดดินได้สะดวกขึ้น
7. ซอยล์แอสท์ ใส่ในดินเค็ม ช่วยลดค่ากรด – ด่างของดิน
8. ซอยล์แอสท์ เสริมสร้างค่าความนำไฟฟ้าให้เหมาะสม เนื่องจาก ซอยล์แอสท์ ช่วยปรบปฏิกิริยาเคมีของดินให้เหมาะสมกับการสร้างเม็ดดิน ป้องกันการจับตัวเป็นแผ่นแข็งที่ผิวดิน
9. ผลของการใส่ ซอยล์แอสท์ กับพืชที่ลงหัวในดิน เช่น มันฝรั่ง เผือก หอม กระเทียม ทำให้ดินไม่เกาะติดที่รากหรือหัวของพืช
10. ซอยล์แอสท์ ช่วยลดสภาพดินที่อัดตัวกันแน่นมาก ควรใช้ร่วมกับการไถดินลึกและการใช้วัตถุอินทรีย์
11. ดินเค็มที่มีโซเดียมสูง ทำให้มีโบรอนละลายอยู่ในดินมาก การใส่ ซอยล์แอสท์ จะช่วยชะล้างโบรอนออกจากดินได้มากขึ้น
12. ซอยล์แอสท์ ลดการสูญเสียไนโตรเจนในปุ๋ย ลดการสูญเสียในรูปของการระเหิดของแอมโมเนียในปุ๋ย แอมโมเนียมฟอสเฟต ยูเรีย นอกจากนี้ยังช่วยในการดูดใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในพืชอีกด้วย
13. ซอยล์แอสท์ ป้องกันการเกิดสภาพดินเกาะตัวกันแน่น ซึ่งเกิดจากฝนตกหรือการฉีดพ่นฝอยของการ
ให้น้ำที่ผิวดิน ผลจากการหว่าน ซอยล์แอสท์ หรือให้พร้อมกับระบบให้น้ำ จะทำให้พืชงอกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม 50 – 100 %
14. ซอยล์แอสท์ ลดความหนาแน่นของดิน ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับสารอินทรีย์วัตถุ จะช่วยทำให้ลดความหนาแน่นดินรวมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทำให้สะดวกต่อการไถพรวน
15. ซอยล์แอสท์ ลดสารพิษที่เป็นโลหะหนัก เนื่องจากแคลเซียมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการปรับความสมดุลของธาตุอาหารเสริม เช่น เหล็ก แมงกานิส สังกะสี และทองแดงที่อยู่ในตัวพืช นอกจากนี้แคลเซียมยังป้องกันการดูดธาตุที่ไม่จำเป็นต่อพืชที่มีมากเกินไปจน เป็นอันตรายต่อพืช
16. ซอยล์แอสท์ สามารถลดค่าพี – เอชของดิน โดยเฉพาะในดินที่มีพี – เอช สูง ซึ่งมีผลกระทบต่อการเป็นประโยชน์ของเหล็ก และสังกะสี
17. ซอยล์แอสท์ เป็นแหล่งสำรองให้ธาตุกะมะถัน เนื่องจากการผลิตปุ๋ยเคมีสูตรสูง กำมะถันถูกกำจัด
ออกไปและผลจากการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซต์ในระบบการทำงานในโรงงาน อุตสาหกรรมเพื่อทำให้อากาศบริสุทธิ์ จึงทำให้เกิดการขาดแคลนกำมะถันในระบบการเกษตร
18. ซอยล์แอสท์ ใส่ในดินกรดจัด ช่วยเพิ่มค่า พี – เอชของดิน
19. ในสภาพดินที่มีสัดส่วนระหว่างแคลเซียม – แมกนีเซียม ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช การใส่ ซอยล์แอสท์ จะช่วยปรับสัดส่วนของแคลเซียม – แมกนีเซียม ให้เหมาะสมต่อพืช
20. ซอยล์แอสท์ ปรับปรุงคุณภาพของผลไม้และป้องกันการเกิดโรคพืชเนื่องจากแคลเซียมในพืชมักมี อยู่จำนวนจำกัดและอาจขาดแคลนในไม้ผลบ่อยมาก คุณภาพของผลไม้ต้องการแคลเซียมที่เพียงพอเนื่องจากแคลเซียมเคลื่อนที่ช้าใน ต้นพืชและจะต้องมีปริมาณที่เพียงพอที่รากพืช  ซอยล์แอสท์ ช่วยป้องกันการเกิดโรคปลายรากเน่าของแตงโมและมะเขือเทศ ซอยล์แอสท์ เหมาะสำหรับดินกรดที่ปลูกมันฝรั่ง สามารถควบคุมโรคสแคปได้ดี
21. ซอยล์แอสท์ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การใส่ซอยล์แอสท์ ทำให้ดินซาบซึมน้ำได้ดี ทำให้มีน้ำที่เป็นประโยชน์แก่ดินเพิ่มขึ้น 25- 100%
22. ซอยล์แอสท์ แก้ปัญหาดินเค็ม เนื่องจากดินมีปริมาณเกลือโซเดียมสูงมาก แคลเซียมใน ซอยล์แอสท์ จะไปแทนที่โซเดียมในอนุภาคดินเหนียว โซเดียมจะถูกน้ำซะล้างออกไปจากดิน
23. ซอยล์แอสท์ แก้ปัญหาดินเหนียวพองตัวและแตกระแหง อันเนื่องมาจากดินเหนียวมีโซเดียมสูงมากแคลเซียมจาก ซอยล์แอสท์ จะเข้าแลกที่ประจุของโซเดียมที่ผิวดิน
24. ซอยล์แอสท์ สนับสนุนการใส่ปูน การใส่ ซอยล์แอสท์ ร่วมกับการใส่ปูน ทำให้การสูญเสียโพแทสเซียมและแมกนิเซียมจากการชะล้างลดลง มีผลทำให้เพิ่มผลผลิตพืชได้ดี
25. ซอยล์แอสท์ ช่วยให้ดินเปียกชื้น ทำให้ไถดินง่ายขึ้น
26. ซอยล์แอสท์  เพิ่มให้ดินรวมตัวกับอินทรียวัตถุ เนื่องจากมีแคลเซียมเป็นตัวเชื่อม ทำให้เกิดความคงตัวของดินกับอินทรีย์วัตถุ
27. ซอยล์แอสท์ หยุดยั้งการไหลบ่าของน้ำและการพังทลายของดิน เนื่องจากที่หว่านด้วย ซอยล์แอสท์ทำให้ดินซึมน้ำง่ายขึ้น
28. ซอยล์แอสท์ ช่วยดูดซึมธาตุอาหาร แคลเซียมใน ซอยล์แอสท์ เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างกลไกทางชีวเคมีของพืช ทำให้รากพืชดูดใช้ธาตุอาหารได้ดีขึ้น
29. ซอยล์แอสท์ ลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียม สำหรับในพืชที่ไม่ทนเค็ม แคลเซียมใน ซอยล์แอสท์ จะช่วยลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียม ที่มีผลกระทบต่อความงอกของเม็ดพืชและการเจริญเติบโตของพืช

อัตราและวิธีใช้  50 - 100 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ หว่านพร้อมไถพรวน หรือหลังจากไถพรวนแล้ว

ขนาดบรรจุ 20 กิโลกรัม





 ORG-5 Granules : ORG5 เม็ด



ORG-5 Granules 

Multi Activity Bio organic Granules. เม็ดเดียวครบเครื่องให้กับพืช

Contents -ประกอบด้วย สารสำคัญ

          - Sea weed extract
          - amino acids
          - neem oil
          - humic acid
          - anti root rot substances



An unique Patented granular formulation for plant growth as well as for effective preventive measures against pests and fungi. It can be used for all crops. G5 contains five different constituents - Due to sea weed based bio-fertilizer there is overall growth of crops due to plant cell division and increase in number of plant cells. Due to blend of vital amino acids, crops gets required nourishment at different stages of its growth. Hence there is healthy and vigorous growth with increased number of flowers and fruits Due to Humic acid, there is profuse growth of white roots. Roots become healthy which ultimately enhance plant growth. Due to Neem Oil, plants are protected from sucking pests in the initial stages of their growth. Neem oil also prevents attacks from other insects and pests as well as protect the plant from Nematodes and Termites. Due to Anti root rot substances, soil gets sterilized by killing harmful fungi such as Fusarium and Pythium. Due to its unique constitution, it has proved to be miracle for all types of crops. since all the five constituents are made available to the crop at once, crop is benefited right from the initial stage till the harvest.



      จาก 5 วัตถุดิบที่ผ่านขบวนการทางธรรมชาติในสัดส่วนที่เหมาะสมกับพืชเพื่อการเจริญเติบโต และการป้องกันและต้านทานต่อศัตรูพืช


ORG-5 สามารถใช้ได้กับทุกพืช

ORG-5 ประกอบด้วยสารสำคัญ 5 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีประสิทธิผลต่อพืชดังนี้

1. Sea weed extract สาหร่ายสกัดธรรมชาติ มีผลให้พืชเจริญเติบโตโดยการแบ่งเซลล์และขยายขนาดเซลล์ ทำให้พืชเติบโตโดยสม่ำเสมอ

2.amino acids ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับพืช โดยให้กรดอะมิโนที่จำเป็นแก่พืชนำไปใช้เพื่อสร้างโปรตีนในการเจริญเติบโต

3. Humic acid ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพของรากพืชให้พัฒนาสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่ในการดูดน้ำหาอาหารได้เต็มที่ ช่วยโครงสร้างของดินให้มีอากาศเพียงพอและร่วนซุย และยังเปลี่ยนสภาพของปุ๋ยที่อยู่ในดินให้อยู่ในรูปที่พืชดูดกินได้

4. Herbal extract สารสกัดจากพืชสมุนไพรและสารสะเดาในรูปน้ำมัน เมื่อพืชต้องแสงแดดจะทำให้สารเหล่านี้ออกฤทธ์ในการป้องกันแมลงและยังใช้ใน การยับยั้งโรคพืชที่เกิดจากเชื้อในดิน และยังสามารถป้องกันใส้เดือนฝอยและปลวกด้วย

5.Anti root rot substances
ช่วยให้ดินปราศจากโรคพืชที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะจากเชื้อ Fusarium และ Pythium.


Dosage -  8 to 16 kg per Acre as per type of crop.

อัตราการใช้   3 - 6 กิโลกรัม ต่อไร่







เม็ดขยัน "กรีนอัพ " (Green Up)สารพันประโยชน์ 

 





กรีนอัพ(GreenUp) สารเพิ่มประสิทธิภาพดิน
เป็นฮอร์โมน&อาหารเสริมพืชเข้มข้น(ชนิดเม็ด) เสริมด้วยสารให้พลังงานและสารสำคัญอื่นๆ(ชนิดเม็ด)
5 ชั้น 5 พลัง 5 สารสำคัญ "ครบและจบในเม็ดเดียว"
ใช้เดี่ยวก็ได้ ใช้ร่วมกับปุ๋ยอื่นๆก็ดี เพราะมีสิ่งที่ปุ๋ยอื่นๆไม่มี
"ความหิวโหย ซ่อนเร้น" คืออะไร?
ไม่ให้ฮอร์โมน&อาหารเสริมที่พืชขาดและต้องการ พืชก็คลานไปเรื่อยๆ ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร การให้ผลผลิตก็ไม่ดี คุณภาพก็มีแต่ต่ำลง
แต่..ส่วนใหญ่เกษตรกรจะให้ด้วยวิธี "ฉีดพ่น"
แต่..ถ้าขี้เกียจ"ฉีดพ่น" จะทำอย่างไรดี?
นี่เลยครับ.."กรีพอัพ"(GreenUp) ชนิดเม็ด..."สะดวก และ ง่าย"
ใช้หว่านหรือคลุกกับปุ๋ยก็ได้ ให้ทางดิน พืชดูดกินได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาเรื่องเสียเวลาไปฉีดพ่นให้พืช
"กรีนอัพ"..ของดีที่ขอแนะนำ
ถ้าไม่อยากให้พืช ต้อง"หิวโหย ซ่อนเร้น" อีกต่อไป ต้องให้"กรีนอัพ" เพื่อรองรับความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายพืช




“ครบและจบในกระสอบเดียว”
“ครบและจบในกระสอบเดียว” จริง ๆ
อะไรกัน..เหรอลุง
อ้าวก็ “กรีนอัพ” ไงล่ะ ไอ้หลานเอ๊ย...
“ไม่ใช่ปุ๋ย.... แต่เป็นมากกว่าปุ๋ย”
กระสอบเดียว ได้มากถึง 5 อย่าง
ทั้ง ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ครบตามที่พืชต้องการ
ให้สารอาหาร “น้ำตาลทางด่วน” เพื่อเพิ่มพลังงานเหมือนทานกระทิงแดง..
ให้ฮอร์โมนพืชตั้ง 3 ชนิด ทั้ง “กระตุ้นแตกราก กระชากแตกใบ” รากเยอะ ใบใหญ่ ใบเขียวเข้ม
ให้สารป้องกันแมลงและโรคพืชหลายชนิด “หนอนไม่กวน เพลี้ยไม่เกี่ยว โรคไม่กล้า” แถมยังเป็นสารปรับสภาพดินได้อีกด้วยน่ะ
ครบเครื่องแบบนี้ จะไม่ให้พูดได้อย่างไรว่า “ครบและจบในกระสอบเดียว”
“ครบและจบในกระสอบเดียว...” จริง ๆ
พืชชอบ เพราะ กระสอบเดียวได้ครบ เหมือนได้สั่งอาหารโต๊ะจีน
ใส่ไป... “พืชโตไว ใบเขียวใหญ่ ต้นแข็งแรง ติดดอก ติดผลดี ผลผลิตมีน้ำหนัก ได้ราคาดี มีเงินเหลือใช้ แบบนี้เอาไหม...

“ออร์กาเนลไลฟ์ หนึ่งในใจเกษตรกรไทย”
“ออร์กาเนลไลฟ์ ชื่อนี้ที่คุณมั่นใจ” และไว้วางใจ
“ออร์กาเนลไลฟ์ สินค้าจัดหนัก องค์ความรู้จัดเต็ม”
“รู้ลึก รู้จริง ในสิ่งที่ทำ ผู้นำนวัตกรรมเกษตรตัวจริง”



กรีนอัพ

ประโยชน์ของอาหารพืช... “กรีนอัพ”เป็น สารเสริมประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ช่วยดูดซับและปลดปล่อยปุ๋ยในดินลดการสูญเสียเป็นอาหารพืชที่ออกฤทธิ์ 2 ระดับ คือ ชั้นนอก ปลดปล่อยอาหารได้ทันทีทันใด ชั้นใน
-• ช่วยในการสังเคราะห์แสง ทำให้พืชกินปุ๋ยได้ดี ใบใหญ่หนากว่าปกติ ใบเขียวเข้มดำมัน 
•ใช้ได้กับพืชทุกชนิดและทุกระยะการเจริญเติบโต 

•- ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง และปลอดโรค 
•ติดดอก ออกผล ได้ดีขึ้น เพราะได้รับอาหารครบถ้วน ทำให้การสะสมอาหารมีมาก ถึงเวลาออกดอกก็จะออกดอกแบบสมบูรณ์ ถึงเวลาติดผลก็ติดผลได้สมบูรณ์ ผลไม่ร่วง ขั้วเหนียว ติดผลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ผลผลิตมาก 

- •ช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพและผลผลิต ของพืชเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรสชาติหรือสีสรรก็ดี ผลผลิตจะมีเนื้อแน่น น้ำหนักดี 

- •ช่วยให้พืชที่มีอาการทรุดโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ฟื้นตัวได้เร็ว 

•- ช่วยป้องกันปัญหาอันเกิดจากการขาดธาตุอาหารต่างๆ อันเป็นต้นเหตุให้พืชมีปัญหา อาทิ การออกดอกไม่ดี ออกดอกน้อย ดอกร่วงง่าย ไม่แข็งแรง รสชาติไม่ดี 

•- ช่วยให้อายุการเก็บเกี่ยวได้ก่อนกำหนดในบางพืช อาทิ ข้าว พืชผักต่างๆ จะให้ผลผลิตเร็วกว่าแปลงที่ไม่ได้ใช้ 10 – 15 วัน 

•- ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ให้ดินโปร่งร่วนซุย ลดการใช้ปุ๋ยลง ธาตุอาหารปลดปล่อยได้ดีขึ้น 

- ช่วยลดการใช้สารเคมี ป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลง เพราะมีส่วนผสมของสารป้องกันและกำจัดโรคและแมลง 

- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายปุ๋ย ทั้งนี้เพราะมีธาตุอาหารที่เข้มข้น สามารถทดแทนปุ๋ยเคมี หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ โดยลดปุ๋ยเคมีลง ได้ถึง 50 – 60 %

คำแนะนำในการใช้
นาข้าว
ควรใช้ควบคู่กับปุ๋ยเคมี ใช้กรีนอัพ 10 กก./ถุง ผสมยูเรีย 46-0-0 เข้าไป 2 กก.คลุกเคล้าให้ทั่ว กรีนอัพ 10 กก./ถุง ใช้หว่านกับนาข้าวได้ 1  ไร่  (ใช้หว่านนาข้าวได้ทั้งรอบแรก และรอบสอง)
ดอกมะลิ/ดอกดาวเรือง ไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ
รองพื้นก่อนปลูก หรือใส่ปุ๋ยอัตรา 1 กำมือ หว่านทั่วแปลงแล้วไถกลบ หรือโรยปุ๋ย 1 กำมือ ข้างแถว กลบปุ๋ย (ใช้แทนปุ๋ย 25-7-7)
พริก ผักชี กะหล่ำ มะเขือ ฟักทองถั่ว (พืชผักสวนครัว) รองพื้นก่อนปลูก หรือใส่ปุ๋ย 50 กก. /ไร่ หว่านทั่วแปลงแล้วไถกลบ โรยปุ๋ย 1 กำมือ ข้างแถว กลบปุ๋ย (ใช้แทน 25-7-7)
อ้อย ถั่วเหลือง ข้าวโพด และพืชไร่ทุกชนิด รองพื้นก่อนปลูก หรือใส่ปุ๋ย 50 กก./ไร่ หว่านทั่วแปลงแล้วไถกลบ โรยปุ๋ยข้างแถว (กลบปุ๋ย) (ใช้แทนปุ๋ยสูตร 15-15-15 / 15-7-18)
ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน เงาะ กาแฟ และไม้ผลทุกชนิด ก่อนทำการปลูก 1 – 2 กก./ไร่ รองก้นหลุม 
ครั้งที่ 1 หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 กก./ต้น โรยปุ๋ยรอบๆโคนต้นห่างเท่ากับรัศมีทรงพุ่ม 
ครั้งที่ 2 ก่อนออกดอก 1-2 เดือน 1 กก./ต้น เก็บเกี่ยวผลผลิตและตกแต่ง 
ครั้งที่ 3 ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 45 วัน 1 กก./ต้น โรยปุ๋ยรอบๆโคนต้นห่างเท่ากับรัศมีทรงพุ่ม
ยางพารา ปาล์ม และไม้ยืนต้นทุกชนิด
ก่อนนำต้นกล้าลงหลุม 300 – 400 กรัม/หลุม ใช้รองก้นหลุม 
ครั้งที่ 1 ต้นฤดูฝน 1 กก./ต้น โรยรอบโคนต้นห่างเท่ากับรัศมีทรงพุ่ม กลบปุ๋ย 
ครั้งที่ 2 ปลายฤดูฝน 1 กก./ต้น โรยรอบโคนต้นห่างเท่ากับรัศมีทรงพุ่ม กลบปุ๋ย

www.organellelife.com
www.facebook.com/organellelife.org
Line ID:organellelife





ปุุ๋ยอินทรีย์เคมี ออร์กรีนพลัส 12-3-3





ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ออร์กรีน–พลัส Orgreen Plus
ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ออร์กรีน–พลัส   สูตร 12-3-3 + OM 10%

ประโยชน์และคุณสมบัติ
   ออร์กรีน–พลัส  ตราผีเสื้อมรกตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี  มีธาตุอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุอาหารหลัก
N, P, K  ธาตุอาหารรอง  Ca, Mg, S  และธาตุอาหารเสริม  Fe, Mn, B, Mo, Cu, Zn, Cl  ที่ได้จากการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง  กลุ่มโปรตีนจากโรงงานผงชูรสและโรงงานผลิตเบียร์  ซึ่งมีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูง
มีกรดฮิวมิกมากกว่า  5%  และกรดอะมิโนมากกว่า  10 ชนิด  ที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ช่วยเร่งการเจริญเติบโต  และเพิ่มผลผลิตพืชให้มีคุณภาพสูง อีกทั้งช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้ดินร่วนซุย  สามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดี ทำให้ต้นพืชแข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
     ออร์กรีน–พลัส  ตราผีเสื้อมรกต  สูตร 12-3-3 + อินทรียวัตถุมากกว่า  10 %  เหมาะสำหรับนาข้าว
พืชไร่ทุกชนิด พืชผัก ไม้ผล ยางพาราเล็ก ปาล์มเล็ก  และไม้ยืนต้น ช่วยเร่งการเจริญเติบโต

อัตราและวิธีการใช้
นาข้าว
20-30  กก/ไร่  ครั้งที่ 1  หลังเพาะปลูก  7-15  วัน
30-45  กก/ไร่ ครั้งที่ 2  เมื่อข้าวแตกกอสูงสุด
พืชไร่
50-70  กก/ไร่ ใช้รองพื้นปรับสภาพดินก่อนปลูก
50-70  กก/ไร่ หว่านระหว่างแถวแล้วกลบ
ยางพารา
0.5-1  กก/ต้น ต้นยางพารา อายุ 1-6 ปี  ใส่ปุ๋ย ปีละ 1-2  ครั้ง
1-2  กก/ต้น  ต้นยางพารา อายุ  8 ปี ขึ้นไป  ใส่ปุ๋ย ปีละ 1-2 ครั้ง
ปาล์ม
1-2  กก/ต้น ต้น ต้นปาล์ม อายุ 1-3 ปี  ใส่ปุ๋ย  ปีละ 1-2  ครั้ง
3-5  กก/ ต้น ต้นปาล์ม อายุ 3 ปี ขึ้นไป  ใส่ปุ๋ย  ปีละ 1-2 ครั้ง
ไม้ผล
1-3  กก/ต้น หว่านรอบทรงพุ่ม  ใส่ปุ๋ย  ปีละ 1-2 ครั้ง
พืชผัก
30-50  กก/ไร่ใส่หลังเพาะปลูก  7-15 วัน
ไม้ดอก ไม้ประดับ
1-2  ช้อน/ต้น ใช้รองพื้นปลูก หรือหลังตัดแต่งกิ่งหลังตัดดอก

ดินได้ปุ๋ยดี  พืชเจริญเติบโตดี มีผลผลิตสูง ต้องปุ๋ยอินทรีย์เคมี ออร์กรีน-พลัส เท่านั้น
ปุ๋ยดี... มีชัยไปกว่าครึ่งครบและจบในเมล็ดเดียว  ปุ๋ยทุกเมล็ดเด็ดไปด้วยคุณภาพ

ขนาด 25 กก.
ทำไมต้องปุ๋ยอินทรีย์เคมี
            เนื่องจากความต้องการในการเพิ่มศักยภาพการผลิตในพื้นที่ดินเพื่อการเกษตรที่สูงขึ้นทำให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมหาศาล ต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี (สนง.เศรษฐกิจการเกษตร2549-54) เพราะปุ๋ยเป็นสินค้าจำเป็นในการเพิ่มผลผลิตของพืช และเพราะปุ๋ยเคมีง่ายต่อการจัดหาและให้ผลตอบสนองที่ชัดเจนจึงมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีมูลค้าการตลาดมากว่า1แสนล้านบาท แต่เพราะความเร่งรีบและต้องการเพิ่มศักยภาพการผลิตที่มากเกินไปทำให้เกษตรกรละเลยต่อการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องจึงส่งผลเสียตามมา ที่เห็นได้ชัดเจนคือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและภาวะดินเสื่อมโทรมจากปุ๋ยเคมีที่ตกค้างในดิน ทำให้ดินตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง แต่เกษตรกรกลับเข้าใจผิดยิ่งเพิ่มการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้พืชตอบสนองดีขึ้น ถือเป็นการซ้ำเติมภาระต้นทุน อีกทั้งความเสื่อมสภาพของดิน
นับแต่ปี2530 จึงมีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูศักยภาพของดินโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งให้ผลดีมากคือสามารถปรับสภาพดินให้ดีขึ้นและเพิ่มผลผลิตพืชได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวจะตอบสนองต่อพืชเพียงระยะแรกเท่านั้น คือหลังจากดินได้รับอินทรีสารจะปลดปล่อยปุ๋ยเคมีที่ตกค้างออกมาให้กับพืช และสารอาหารตกค้างจะถูกใช้หมดไปในเวลาต่อมา จึงต้องมีการแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี คือมีจุดประสงค์ทั้งเพื่อให้อาหารพืช(ปุ๋ยเคมี)และการอนุรักษ์ดิน(ปุ๋ยอินทรีย์)
ทั้งนี้การศึกษาถึงภาพรวมของการใช้ปุ๋ยและปัญหาในอดีตยังนำไปสู่การพัฒนาและผลิตนวัตกรรมใหม่ของสินค้าออกมา โดยมีปัญหาและทางออกเพื่อการแก้ไขโดยลำดับคือ
1. ความต้องการเพิ่มผลผลิตทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น
2. พืชต้องการธาตุอาหารทีละน้อยและต่อเนื่อง แต่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพียงปีละ2-3ครั้ง โดยใส่ครั้งละมากๆโดยหวังว่าจะให้พืชดูดกินอย่างเพียงพอ ทั้งนี้อาจเพราะปัญหาด้านแรงงาน
3. การใส่ปุ๋ยเคมีน้อยครั้งและคราวละมากๆทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อดินและพืช(over dose) อีกทั้งเกิดความสูญเสียธาตุอาหารได้ง่าย จากการระเหิด ระเหย ถูกพัดพาโดยน้ำ และการบล็อกของดิน(โดยเฉพาะ PและK) โดยมีการสูญเสียเฉลี่ยถึง40-60%(ยงยุทธ 2531)
4. และเพราะปัญหาจากสูญเสียธาตุอาหาร ผู้ผลิตกลับชดเชยด้วยการผลิตปุ๋ยเคมีที่มีสูตรเข้มข้นขึ้น(NPK สูงๆ) เพื่อหวังจะช่วยเพิ่มผลผลิต กลับจึงยิ่งส่งผลความเป็นพิษต่อดินและพืชมากขึ้น 

จากการศึกษาปัญหาจึงมีแนวทางการพัฒนาดังนี้
A. ใช้ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมกับพืช ไม่ต้องเผื่อสูญเสีย จากการวิเคราะห์พืชและดิน(ปุ๋ยสั่งตัด)
B. แนะนำให้เกษตรกรแบ่งใส่ปุ๋ยหลายๆครั้ง ต้นทุนสูง, แก้พฤติกรรมเกษตรกรยาก
C. เพิ่มการใช้ประโยชน์ได้ของปุ๋ย โดยยืดระยะการละลายของปุ๋ย เช่นผสมตัวดูดซับ หรือ การเคลือบผิวให้ละลายช้า ต้นทุนสูง
D. แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ใช้แรงงาน, ยุ่งยาก, ผสมแล้วแฉะเละ
E. ทำเป็นปุ๋ยอินทรีเคมีcompound ในสูตรที่เหมาะสม

ทำไมต้องอินทรีเคมี
ในพืชที่ปลูกในดิน ดินมีความสัมพันธ์ต่อผลิตภาพของพืชมาก การใส่ปุ๋ยก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของดินและส่งต่อไปยังพืช เพื่อพัฒนาเป็นผลิตผล ปัจจัยและความสัมพันธ์ชองดิน ปุ๋ยและพืชมีดังนี้
องค์ประกอบของดินดี ได้จาก ปุ๋ยอินทรีเคมี
Physical คือกายภาพดี เช่นสภาพร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี รากแทงได้ง่าย ไม่แข็งดาน ปุ๋ยอินทรีย์(OM20%) และวัสดุปรับปรุงดิน อินทรีวัตถุ >10% +สารปรับสภาพดิน ช่วยดูดซับธาตุอาหารไม่ให้สูญเสียและละลายให้พืชช้าๆตามต้องการ
Chemical คือส่วนประกอบทางเคมี ที่พืชต้องการ เช่น N,P,K,Ca,Mg,S,Fe ปุ๋ยเคมี (NPK)
ปุ๋ยธาตุอาหารรองและเสริม NPK >12%
+ธาตุอาหารรอง+ธาตุอาหารเสริม
Biological คือ มีความสมบูรณ์ทางนิเวศน์ของดิน มีจุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลายซากพืช สัตว์และปลดปล่อยธาตุอาหาร ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ มีActive mediaจากอินทรีสาร เช่น กรดอะมิโนและน้ำตาล เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ธรรมชาติที่เข้ามากินและขยายจำนวน
การผลิตปุ๋ยอินทรีเคมีสามารถออกแบบส่วนผสมที่หลากหลายตามความต้องการของพืชและดินได้ จึงถือเป็นนวัตกรรมที่คุ้มค่าและมีจุดเด่นมากมาย

รายการ ข้อดี
1.ต้นทุน ราคาแพงกว่าปุ๋ยอินทรีย์แต่ถูกกว่าปุ๋ยเคมี
ลดต้นทุนค่าแรงผสม(ปุ๋ยเคมี+ปุ๋ยอินทรีย์) ค่าแรงใส่
2.คุณภาพ ให้ผลเหมือนใส่ปุ๋ย4ชนิด คือปุ๋ยเคมี+ปุ๋ยอาหารรองและเสริม+ปุ๋ยอินทรีย์+ปุ๋ยชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารเกือบ100% ให้ผลทั้งระยะสั้นและยาว
3.โอกาส มีโอกาสเติบโต เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมี คู่แข่งยังน้อย
เพราะเหตุว่าปุ๋ยเคมียังมีความจำเป็นและปุ๋ยอินทรีย์ก็ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์ดิน ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการใช้ปุ๋ยที่มีทั้งเคมีและอินทรีย์ในตัว
หารายได้ มาเป็นตัวแทน ขายปุ๋ยกันเถอะ
(โดย สมบัติ สุขมะณี )







ออร์กรีน
ออร์กรีน (ORGreen) ปุ๋ยอินทรีย์ ตรา ผีเสื้อมรกต


เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในฝันที่พืชทุกพืชขยันตามหากันมานานก็เพราะว่า ORGreen มีองค์ประกอบหลายอยำงที่จาเป็นตํอพืชและพืชต๎องการ ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆไมํมี ไมํวำจะเป็นสาร Malate ซึ่งเป็นสารตั้งต๎น (starter) ในกระบวนการทำงานของเซลล์พืช หรือ Fulvic acid ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารและรักษาสมดุลย์แรํธาตุสารอาหารตำงๆ และ Amino acid เป็นต้น

ORGreen : มีสาร “Malate” ซึ่งเป็นสารตั้งต๎น (starter) ในกระบวนการทางานของเซลล์ ทำให้พืชดำเนินกิจกรรมของเซลล์ได้อยำงสมบูรณ์ ไมํมีการสะดุดหรือหยุดชะงัก ไมํวำสภาวะแวดล้อมทั้งอุณหภูมิหรือสภาพดิน ฟ้า อากาศ จะแปรปรวนเพียงใดก็ตาม ไมํว่าจะหนาวจัด, ร้อนจัด, แล้งจัดหรือชํวงแสงน้อยจนทำให้พืชสังเคราะห์แสงหรือปรุงอาหารได้ไมํเต็มที่ พืชเองก็ยังคงเจริญเติบโตได้ตามปรกติ เพราะเราให้สาร Malate เป็นสารตั้งต๎นแบบลัดวงจรโดยเลียนแบบธรรมชาติที่พืชเคยสร้างได้เอง จึงทำให้พืชเจริญเติบโตดี ต้นอวบใหญํ ใบเขียวเข้ม ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ติดดอกออกผลดก ผลผลิตสูง คุณภาพสูง
ปลูกยางพาราก็ให้น้ำยางพาราดี มีน้ำหนัก มีเปอร์เซ็นต์น้ำยางสูง ปลูกปาล์มน้ำมันก็ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันมาก เปอร์เซ็นต์สูง ปลูกมันสาปะหลังก็ให้มันหัวใหญํ น้ำหนักมาก เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ปลูกข้าวก็ให้ผลผลิตข้าวสูง เมล็ดเต็ม เปอร์เซ็นต์แป้งสูง

 ORGreen : มีกรดฟลูวิค (Fulvicacid) ซึ่งเป็นหัวใจในการบริหารและจัดการ รักษาสมดุลแรํธาตุและ สารอาหารตำงๆของพืช ชํวยเพิ่มการดูดซึมธาตุอาหาร ชํวยกำจัดสารพิษออกจากพืช (Detoxification) เพิ่มขบวนการสังเคราะห์โปรตีนและการสะสมน้ำตาลในพืช ทาให้พืชมีผลตอบสนองที่ดีที่สุด

 ORGreen : มีกรดอะมิโน (Aminoacid) ในรูปคีเลท (chelate) ขนาดเล็กที่สุด ทำให้ผำนเข้าสูํเซลล์ได้งำยและรวดเร็ว ทาให้พืชได้รับพลังงานและอาหารสะสมได้ทันที โดยไมํผำนกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช พืชจึงเติบโตเร็ว แข็งแรง ให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ

ที่กลำวมาเป็นเพียงบางสํวนใน ORGreen ที่ปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ “ไมํมี” และเชื่อได้เลยวำปุ๋ยอินทรีย์แบบนี้ไมํมีใครทำได้ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ไมํมีใครเหมือนและไมํเหมือนใคร เพราะเราใสํ “หัวใจของพืช” ลงไปนั้นคือเราใสํสาร “Malate” ซึ่งเป็นสารตั้งต๎น (starter) และ สำคัญจริงๆ ในวงจรชีวิต ของพืชในกระบวนการเมทาบอริซึมของพืช พืชจะเติบโตได้อยำงไมํมีที่สิ้นสุด...ไมํสะดุด..ไมํชะงักงัน ไมํวำกลางคืนหรือกลางวัน พืชจะสร้างผลิตภัณฑ์ตำงๆได้ไมํวำจะเป็นน้ำยาง,น้ำมัน,น้ำตาล,แป้ง ก็ตาม ที่ได้อยำงครบถ้วนสมบูรณ์ ชํวยเพิ่มพูนคุณภาพ และผลผลิตของพืชได้เป็นอยำงดีเยี่ยม ใช้แล้วรู๎สึกได้ทันทีวำไมํมีใครเหมือน...ผู้ที่รู้ดีที่สุดและสามารถให้คำ ตอบได้ดีก็คือ “พืชของทำน” นั่นเอง

ขนาดบรรจุ 25 กิโลกรัม

อัตราและวิธีการใช้
50 - 100 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ โดยการหว่าน หรือ ฝังบริเวณรอบลำต้น
 

สอบถามเพิ่มเติม 
084 -8809595, 084-3696633
Line ID : @organellelife.com  (มี@ด้วยครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น